ประวัติศาสตร์ชนชาวกูย
กูยอาศัยอยู่ในดินแดนอีสานใต้,ลาวใต้ และด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศกัมพูชา กูยเคยมีฐานะทางสังคมเป็นชาติอิสระ ไม่ได้เป็นพวกข้าไพร่ของราชอาจักรสยามมีประเทศ มีบ้านเมืองของตัวเอง ดังมีหลักฐานทางกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๙๗๔ สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ระบุคนต่างศาสนาว่า มีฝรั่ง, อังกฤษ ,กปีตัน ,วิสันดา, คุลา, ชวา,มาลายู,ขอม,พม่า,รามัญ และ กวย หรือ กูย ในพระราชพงศาวดารเขมร ก็ได้กล่าวถึงพวกมอญ เขมร ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางทิศตะวันตก เรียกตัวเองว่า “มอญ”หรือ “รามัญ” ส่วนพวกที่อยู่ทางทิศตะวันออก เรียกตัวเองว่า ”ขเเมร์” นอกจากนี้ยังมีเชื่อชาติ มอญ-มแขร์ อาศัยอยู่ตามป่าเขาในประเทศไทยลาว และเขมร อีกหลายพวกคือ พวกปอร์ สำแร กวย ขมุ(สันเดียน)พนอง ลว้า ปะหล่อง ส่วย และ เยอ
ชุมชนกูยในภาคอีสานใต้ ในอดีตชุมชนกูยเป็นชุมชนเล็กๆ มีนิสัยชอบย้ายถิ่นฐานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เมื่อลูกหลานในครอบครัวเติบโต ก็จะแยกย้ายออกจากหมู่บ้านไปหาที่อยู่ใหม่ ในบริเวณที่ว่างที่ยังไม่ใครยึดครอง หรือใช้เป็นที่เพาะปลูก มีอาชีพทำการเพาะปลูกทำไร่ทำนาเป็นหลัก มีความสามารถในการดำรงชีวิตในป่าและการถากถางป่า เพื่อใช้ทำการเกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้จึงเกิดหมู่บ้านใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา มีการแยกออกจากหมู่บ้านเดิม แตกหน่อแตกกออยู่ใกล้บ้านเก่า เมื่อพื้นที่ใช้ทำนามีน้อย จึงพากันย้ายถิ่นไปอยู่ห่างไกลออกไปการตั้งเป็นชุมชนใหม่นั้นชาวกูยเรียกว่า “โซ๊ะตะมัย”หมายถึง"บ้านใหม่" มีหลังคาเรือนไม่เกิน ๑๒ หลัง ดังที่ "เอเจียน แอมอนิเย" มีการสำรวจและบันทึกการเดินทางพบว่ามีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าส่วย(กูย)ซึ่งมีกระท่อมอยู่เพียง ๑๒ หลัง ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และสำรวจพบในลาวว่า ชนเผ่าส่วยยากจนที่สุดไม่มีไร่นาทำการเพาะปลูก มีเพียงไร่ผืนเล็กๆ กลางป่าใหญ่เพี่อปลูกข้าว แต่ยังขาดอาหารการกินตลอดปี พวกเขาปลูกฝ้าย และต้นครามเพียงเล็กน้อย ขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์
ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่มีขีดความสามารถพึ่งตัวเองในทางเศรษฐกิจ คือ มีความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจที่ได้จากป่า และทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครัวเรือน ยังมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตเพี่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการจัดระเบียบทางการปกครองในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี ผู้มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้มีบทบาทต่อการตัดสินผิดถูกในชุมชน ซึ่งชาวกูย เรียกว่า“โขด”
ในชาวกูยจับช้าง(กูยตำเหร็ย)มีระบบระเบียบพิธีกรรมก่อนออกไปจับช้างอย่างเคร่งครัดโดยมีการตกลงมอบหมายอำนาจให้แต่ละคนกระทำเหนือกลุ่มหรือคณะดังนี้
มะ หรือ จา มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญ เป็นผู้ถือท้ายหรือผู้ที่ช้างต่อ
หมอสะเดียง เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์ในการจับช้าง รู้เข้าใจรู้หาของป่า จะขี่ช้างอยู่ตรงคอ
หมอสะดำ ทำหน้าที่ควาญเรียกว่า ควาญเบื้องขวา มีฐานะสูงกว่าสะเดียงสะดำต้องมีประสบการณ์เคยออกจับช้างป่า มาแล้วอย่างน้อย 11 เชือกขึ้นไป บางทีเรียกว่าหมอใหญ่
ครูบา เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้าในกลุ่มย่อยหรือหมู่ช้างต่อจะออกจับช้างป่าได้เมื่อ ได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่ บางครั้งครูบาออกจับช้างได้ตามลำพัง
ครูบาใหญ่ เป็นหมอช้างใหญ่ หรือประกำหลวง หรือหมอเฒ่าเป็นผู้อำนายการออกจับช้างแต่ละครั้ง เป็นประธานในพิธีเซ่นผีประกำและประกอบพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวง ขณะเดินป่าจะเป็นผู้ชี้ขาดและตัดสินใจขณะกระทำการจับช้างป่ามีกฤตาคมสูง สามารถป้องกันภัยทั้งจากภูตผี และสัตว์ป่าด้วยเวทมนต์ ในการออกจับช้างป่าแต่ละครั้ง ครูบาใหญ่จะต้องแสดงความรู้ความสามารถ
ถิ่นกูย มีชุมชนกูยที่อาศัยอยู่ทั้งใน และนอกประเทศไทย ซึ่งถิ่นกูยในประเทศมีการ ตั้งถิ่นฐานอยู่กันหนาแน่นในอีสานใต้ ได้แก่ บริเวณ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ประปรายได้แก่ จ.นครราชสีมา และมหาสารคาม จากข้อมูลการศึกษาทางกลุ่มชาติพันธุ์วิทยา ว่าด้วยชาติเผ่า ในประเทศไทย สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงประมวลไว้ในเอกสารประมวลพระบรมราชาอธิบายเกี่ยวกับประวัติสยาม และชาติพันธุ์วิทยา ว่าด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย พบว่ามีกลุ่มกูย จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน ไม่นับพวกชาวกูย และเขมรกูย อีกซึ่งมีจำนวน ๑๔๔,๐๐๐ คน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้มีการสำรวจประชากรชาวกูยในอีสานใต้ พบว่าจำนวนประชากรกูย ที่ประมาณการได้มีทั้งสิ้น ๒๗๓,๕๗๐ คน จ.อุบลราชธานี ๖,๙๑๖ คน จ.ศรีสะเกษ ๑๐๕,๘๕๒ คน จ.สุรินทร์ ๑๑๙,๕๐๖ คน และ จ.บุรีรัมย์ ๔๒,๒๙๕ คน กระจายอยู่ใน ๖๘๖ หมู่บ้าน จ.ศรีสะเกษ ๒๕๗ หมู่บ้าน จ.สุรินทร์ ๓๒๒ หมู่บ้าน และ จ.บุรีรัมย์ ๙๖ หมู่บ้าน ในจำนวนทั้ง ๓ จังหวัดนี้มีจำนวนหมู่บ้านกูยอยู่หนาแน่นคือจำนวน ๖๐ หมู่บ้านขึ้นไป คือที่ อ.ปรางศ์กู่ จ.ศรีสะเกษ อ.ศีขรภูมิ อ.สำโรงทาบ และ อ.สังขะ ใน จ.สุรินทร์
ชาวกูย มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างกูยที่ลงไปจับช้าง และไปตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้าน อยู่ที่กัมพูชา เช่น ชาวบ้านหนองบัวเหนือ ต.นิคม อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และชาวบ้านในจังหวัดอีสานใต้ เช่น บ้านหนองบัว บ้านเมืองลีง (อ.จอมพระ)บ้านเบื้อง (อ.ชุมพลบุรี)ชาวบ้าน ในเขตตำบลกระโพ (อ.ท่าตูม)ที่เคยอพยพไปอยู่ที่บ้านปวงมะนา ขึ้นต่อเสียมราฐ เส้นทางไปเขาพระวิหารถึงหมู่ปวงมะนา ใช้เวลาเดินทาง ๑๒ วันถึงหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้าน ใกล้เขาภูตะเบ็ง ชาวบ้านที่ไปอยู่มาก ไปเขตหมู่บ้าน อ.จอมพระ บางคนไปรับจ้างเลี้ยงช้างให้แก่ชาวฝรั่งเศสก็มี นอกจากนี้ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก
ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับกัมพูชา เกี่ยวกับระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ประเทศกัมพูชาได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ได้มีชาวกวยกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมจำนวนมาก ก่อนที่ลงไปอาศัยอยู่ที่กัมพูชา ที่ ต.สวายสือ อ.พวกกะได จ.เสียมราฐ ได้หนีกลับประเทศไทย ขณะที่ญวนทำการรุกราญในประเทศกัมพูชา ชาวบ้านในหมู่บ้าน ต.พวกกะได ได้ถูกญวนฆ่าตายหลายคน ชาวบ้านที่หนีกลับประเทศไทย บอกว่าอยากอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เพราะบ้านเขามีความอุดมสมบูรณ์ กว่าประเทศไทยมาก
ข้อที่น่าสังเกต บริเวณที่มีการก่อสร้างปราสาทขอมที่สำคัญๆ ได้มีกลุ่มชุมชนกูยอยู่รายรอบไม่ห่างไกล เช่น ปราสาทนครวัด ในกัมพูชา ปราสาทวัดภูในลาว ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทพนมรุ้ง ในอีสานใต้ ดังนั้นศิลปกรรม ด้านการแกะสลัก ตามปราสาท เช่น ปราสาทนครวัด ชุมชนกูยน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามีบทบาทในส่วนร่วมของการจัดระเบียบสังคมในสมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๕-๑๖๙๓ ) แม้ว่าอำนาจของอาณาจักรกัมพูชา ได้ลดบทบาทลง แต่ว่าชาวกูย ก็ยังช่วยสร้างบทบาททางประวัติศาสตร์ไห้แก่อาณาจักรอยู่ ดังเช่นชาวกูยบริเวณรายรอบทะเลสาบเขมร โดยเฉพาะบริเวณกำบงทม ได้เข้าช่วยกษัตริย์เขมรแห่งนครธมปราบกบฏ ที่มีชนเผ่ากูยเข้ามาช่วยเหลือปัญหาของบทบาทของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ดังที่ปรากฏในพงศาวดารละแวกว่า ขณะเมื่อสมเด็จพระศรีโสทัยเสวยราชย์ นั้น มิได้ไว้พระทัยพระธรรมราชาจะให้ฆ่าเสีย นางเกษรผู้เป็นพระอัยกีรู้เหตุ ได้ลอบทูลพระยาธรรมราชาให้หนีไปอาศัยบ้านตรันอาก ซ่องสุมผู้คนได้เป็นอันมาก แล้วยกมารบกับพระศรีโสทัย พระศรีโสทัย ทานไม่ได้ หนีไปอยู่บ้านจงระนัก ซ่องสุมรี้พลได้เป็นอันมาก ยกกลับมารบเจ้าพระยาธรรมราชา เจ้าพระยาธรรมราชาหนีไปอย ู่บ้านทำเลอม เหนือเขาพนมรุ้ง เกลี้ยกล่อมชาวบ้านชาวเมืองทางตะวันออก ได้พร้อมมูลยกกองทัพกลับมารบได้เมืองพระศรีโสทัย หนีมาอยู่ที่ ต.ปรำบีโฉม เมืองละแวก จึงทำให้เจ้าไชยมนตรีขุนนางยกกองทัพตั้งอยู่ ต.ตรวยลังว้า ฝ่ายพระธรรมราชา ขณะหนีไปอยู่บ้านทำเลอมนั้นได้เป็นมิตรสนถาวะกันกับชาวกวย ครั้นได้พระนครหลวงแล้วจึงให้มีหนังสือไปถึงกองทัพชาวกวย ณ เมืองตบงขมุม ไห้ยกมาช่วยรบพระศรีโสทัย ณ เมืองละแวก และยังพบว่าชาวกูย เคยเป็นรัฐอิสระในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๒๐ เคยส่งฑูตมาค้าขายกับราชสำนักอยุธยา ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหารปราบปรามชาวกูย และผนวกเอาอาณาจักรของกูยเข้าไปส่วนหนึ่งของเขมร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง ชนชาติกูยก็ไม่ได้หายไปไหนแต่มีวิถีชีวิตอย่างอิสระในบริเวณดินแดนอีสานใต้ ซึ่งเป็นดินแดนอิสระ อยู่อย่างเอกราช ส่งผลไห้ชาวกูยหรือข่า ในแขวงเมืองอัตตปือจำปาศักดิ์ และสาละวัน ประเทศลาว เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่ดินแดนแถบอีสานใต้ จนกระทั้งมีชุมชนกูย(ส่วย)ได้ปรากฏชัดขึ้นและทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในอีสานใต้(เขมรป่าดง)ซึ่งขณะนั้นอำนาจการปกครองของเมืองพิมาย ได้เข้าสู่พื้นที่เขตเขมรป่าดง แต่ทำการปกครองหัวเมืองในอีสานได้อย่างหลวม ๆ
รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ.๒๓๐๑-๒๓๑๐)และในปี ๒๓๐๒ หรือจุลศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะเอกศก พระยาช้างเผือกแตกโรง ออกจากกรุงออกไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตกแขวงเมืองจำปาศักดิ์ มีผู้นำชาวกูย ๕ คน ให้ความช่วยเหลือข้าหลวงจากอยุธยา ในการติดตามเอาตัวช้างเผือกกลับคืนเมืองหลวงได้ จึงได้ตอบแทนความ ดีความชอบ กับผู้นำชาวกูย อันเป็นที่พอใจให้แก่พระเจ้าเอกทัศน์ ผู้นำชาวกูยจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้
ตากะจะ เป็นหลวงแก้วสุ
เชียงขัน เป็นหลวงปราบ
เชียงฆะ เป็นหลวงเพชร
เชียงปุ่ม เป็นหลวงสุรินทรภักดี
เชียงลี เป็นหลวงศรีนครเตา
ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง,ม้า,แก่นสน,ยางสน,ปีกนก,นอรมาด,งาช้าง,ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า “ส่วย” โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงสุวรรณ (ตากะจะ)เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ)เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง)เป็นบ้านสังฆะ ให้ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม)เป็นพระสุรินทรภักดีศรีนรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์)ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา)เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมายชาวกูยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.๒๓๒๕ -๒๓๕๒) ก่อนนี้เป็นสมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.๒๓๑๙ ทางเมืองจำปาศักดิ์ เกิดวิวาทกับพระวอ ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง (ใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน)เจ้ากรุงศรีรัตนาคนหุตเวียงจันทร์ โปรดได้ให้พระยาสุโพ คุมกองทัพมาตี พระวอ สู้ไม่ได้ และได้จับพระวอฆ่าเสีย ฝ่ายท้าวก่ำ บุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม หนีออกมาได้ จึงให้คนถือหนังสือไปกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปสมทบกับกำลัง ที่เกณฑ์จากเมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวกูย ตามตีกองทัพของพระยาสุโพ ผลสงครามครั้งนี้กองทัพไทย ตีเมืองต่างๆในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด อาณาจักรเวียงจันทร์ และนครจำปาศักด์ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุรินทร์ เจ้าเมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เป็นตำแหน่ง “พระยา”ทางเมืองเขมรนั้นกองทัพไทย ได้ยกไปตีเมืองเสียมราช กำปงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ และเมืองรูงตำแร็ย เมืองเหล่านี้ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพไทย
จากการชนะสงครามดังที่กล่าว จึงเป็นเหตุหนึ่งที่มีกลุ่มชนชาวลาว และชาวเขมรเข้ามาอยู่อาศัย ในชุมชนกูย และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าพวกกูยจึงถูกวัฒนธรรมเขมรกลืนไป เช่น เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ส่วนที่เมืองกุดหวาย (รัตนบุรี)อุบลราชธานี และศรีษะเกษ ได้มีการปรับเปลี่ยนไปทางวัฒนธรรมลาวไปแทบทั้งสิ้น
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๓ ให้กลุ่มชาวกูยเป็นสาขาหนึ่งของชาวข่าฐานะเป็นไพร่ ข้าแผ่นดินสยามได้ถูกเกณฑ์แรงงาน และจัดส่งส่วยให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ในสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การเกณฑ์แรงงานกูยในเขตอีสานใต้(เขมรป่าดง)เริ่มประสบความยุ่งยาก เพราะหนุ่มฉกรรจ์ชาวกูย มักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงานแล้วหนีเข้าป่า และมีชาวกูย(ข่า)ได้ก่อการกบฏขึ้น ดังเช่นกบฏเชียงแก้ว ค.ศ.๑๗๙๑ (พ.ศ.๒๓๓๔)ได้เกิดเหตุในแขวงเขตจำปาศักดิ์ และในเขตหัวเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี กบฏสาเกียดโง้ง ค.ศ.๑๘๒๐ (พ.ศ.๒๓๖๓)เป็นกบฏของข่า ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางกรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าอนุผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า(กูย)พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวข่าโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี ข่า(กูย)เคยมีจำนวนถึง ๓๐๐,๐๐๐ คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน
เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควายซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ.๒๔๐๒ ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควายจำนวน ๖๑ ตัว เมืองรัตนบุรี จำนวน ๑๖๓ ตัว และกองพระยาภัคดีชุมพลเมืองสุรินทร์ จำนวน ๓๒ ตัว
การจัดเก็บได้ทวีเพิ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อชาวกูยไม่มีสิ่งของเป็นส่วยให้กับทางราชการ และพอตกถึงปลายรัชกาลที่ ๔ ก็เข้ารอบวิกฤตอีกตามเคย คือข่า(ส่วย)ไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวคนส่วย(กูย) ส่งแทนของ ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดกบฏผีบุญขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฎ กับฝ่ายรัฐบาลสะพือ (อยู่ในอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน) หัวหน้าฝ่ายกบฎ คือ องค์ลูก น้องขององค์แก้ว หัวหน้าพวกข่า(กูย)ในลาว องค์มั่นมีชาวบ้านเข้าด้วยหลายพันคน เมื่อปะทะกับ กองกำลังประมาณ ๑๐๐ คน ของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการอีสานในวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ.๑๙๐๒ (พ.ศ.๒๔๔๕) ที่บ้านสะพือ
องค์มั่นก็สั่งให้พรรคพวกนั่งลงภาวนาเอาบารมีบุญกุศลเป็นที่พึ่ง จะแคล้วคลาดจากกระสุนปืนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายผู้มีบุญถูกกระสุนปืนใหญ่ตายนับร้อย ที่เหลือถูกจับ หรือแตกหนีไป เมื่อพิจารณา ถึงปัญหาสาเหุตการเกิดกบฏถ้ามองด้านการปกครองได้จัดมีรูปเเบบที่เป็นรัฐบาลไทย ที่นำเอาอย่างประเทศอาณานิคม คือ อังกฤษ ด้านวัฒนธรรมไม่เอาใจใส่ หรือไม่สนใจกับรากฐานทางวัฒนธรรม ดั้งเดิมที่ตนเข้าไปปกครอง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะกดดันวัฒนธรรมเดิมให้อ่อนด้วยลงพร้อมกับการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้าไปแทน
ในแง่วัฒนธรรมทางการเมือง คือ การล้มเลิก ระบบกินเมือง ในด้านการเก็บภาษี มีการเปลี่ยนเเปลง คือ การเก็บภาษีเป็นตัวเงินที่เห็นได้ชัดคือการเก็บเงินค่าราชการ แต่เดิมรัฐบาลใช้การเกณฑ์เเรงงาน เเละส่วยเมื่อมีการปลดไพร่ รัฐบาลเองก็ต้องการเงิน มากกว่าเเรงงาน ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ รัฐบาลให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ ๖ บาท เป็นมาตฐานเดียวกับภาคกลาง ในขณะที่ภาคอีสาน เศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนเเปลงมากนัก ดังนั้นจึงก่อเกิดปัญหาชาวนาในภาคอีสานประสบความยากลำบากในการหาเงินเสียค่าราชการ และยังสะท้อนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเเรงงานของคนอีสานมายังภาคกลาง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อชาวกูย เพราะสอดคล้องกับผลการสำรวจของ เอเจียน เเอมอนิเย ที่กล่าวว่า ชนเผ่ากูยเป็นเผ่าที่ยากจนที่สุด ไม่มีไร่นาจะเพาะปลูก เขามีเพียงไร่ผืนเล็กๆ กลางป่าเพื่อปลูกข้าว ต่อมาฝรั่งได้ขยายอำนาจสู่บริเวณอินโดจีน รัฐไทยมีนโยบายเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะชายแดนในอีสานตอนใต้ ที่มีชนชาติกูยได้ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย ได้เปลี่ยนสัญชาติกูยเป็นไทย การสำรวจสำมะโนครัว หรือ หากมีราษฎรติดต่อราชการที่จะต้องใช้เเบบพิมพ์ทางราชการให้ปฎิบัติโดย กรอกในช่องสัญชาติว่าไทย บังคับห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ชาติกูย ผู้ไทย ดังที่เคยปฎิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด
อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ชนชาติกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานตอนใต้ ลาวใต้ และกัมพูชาตอนบน(ตะวันออกเฉียงเหนือทะเลสาบเขมร)มีความเป็นมาและได้มีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับ ชาวกัมพูชา ลาวและไทย ตลอดมาโดยเฉพาะความความสัมพันธ์กับชนชาติไทย และการสร้างความมั่นคงให้กับชาติไทย แต่ผลกระทบ ที่ได้รับจากการปกครองของไทย ยังเปิดโอกาสให้ชาวกูยสร้างชีวิตความเป็นอยู่น้อย ซึ่งพิจารณาได้จาก ชุมชนกูยที่มีอยู่ทางภาคอีสาน ได้ถูกชี้ให้เห็นถึงปัญหาความยากจนส่วนหนึ่งของประเทศและขาดเสถียรภาพกับความมั่นคงในปัจจุบัน
กูยตำเหร็ย ไม่น่าจะเป็นภาษากูย ตำเหร็ย ภาษาเขมรแปลว่า ช้าง
ตอบลบช้างในภาษากูย คือ อาจีง ภาษากวย คือ อาเจียง
กูยตำเหร็ย น่าจะเป็นชาวเขมรเรียกกูยที่เลี้ยงช้าง
ภาษากูยเรียก กูยอาจีง หรือ กวยอาเจียง
ไม่ได้มีเจตนาตำหนิใดๆ เพียงแต่อยากทำความเข้าใจให้ถูกต้องเท่านั้น
ถ้าจะแปลตามรากศัพท์ ตามภาษากูย
กูย คือ คน
ตำ คือ ตี
เหร็ย ภาษากูย ไม่มีคำแปล
กอนเจากูย (ลูกหลานกูย)
ได้รู้ประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ตัวเองแล้วรู้สึกสงสารบรรพบุรุษตัวเองเหลือเกิน
ตอบลบกอนกวย--ลูกกวย
เเต่ ชาว กูย ก็อพยบมาจากอินเดียเมื่อ2-3000ปีที่เเล้ว 55555 มีเลือดผสมระหว่างเวดดิด (veddid) กับเมลาเนียม
ตอบลบประเพณีส่วนมากของพราม ฮินดู ทั้งนั้น
ส่วนลักษณะโครงสร้างทางภาษามีส่วนคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก
กับภาษามุนด้า (Munda) ซึ่งเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย
มีอาชีพอยู่ตามลุ่มน้ำพรหมบุตรตอนเหนือแถบแคว้น อัสสัม ประเทศอินเดีย เเละมีข้อมูลอีกเยอะเเต่เอามาไม่หมด
👉https://www.facebook.com/276130475912133/posts/276213255903855/
การสถาปนาอาณาจักรฟูนันขึ้น http://nonsrin.tripod.com/surin/wattanatam.html
เหมือนใครบางคนเป๊ะ 5555