๑۩۞۩๑ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล๊อกของผมครับ ๑۩۞۩๑

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กฐิน

พิธีทอดกฐิน
"เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา
ชาวพาราเซ้งแช่แห่กฐิน
ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน
กระแสสินธ์ สาดปรายกระจายฟอง
สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น
บ้างแข่งขันต่อสู้เป็นคู่สอง
แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง
ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี"
                             (นิราศเดือน)

พิธีทอดกฐิน   เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทาน  แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" ประชาชนชาวไทยจัดพิธีนี้อย่างสนุกสนาน ดังคำกลอนข้างต้นนั้น
กฐินแปลว่ากระไร?   
           คำว่า   กฐิน  แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน   แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือน สมัยปัจจุบันนี้   และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน   การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า  พระสารีบุตร   พระมหาโมคคัลลานะ   พระมหากัสสปะ   แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย   ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร   อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น   มาถวายพระภิกษุสงฆ์   มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน   โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)
ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้
เขตกำหนดทอดกฐิน
                    การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน
แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้   จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทอดจะทำอย่างไร
พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว   พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
จองกฐิน   เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาง ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้
เตรียมการ   ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน   ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ   และเลี้ยงผู้มาในการกฐิน
ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)
วันงาน   พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาลเทศะแห่งท้องถิ่น
อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล
การถวายผ้ากฐิน   การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว   พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน
พิธีกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร

เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ   เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์   เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ
ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้ 
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ"  3 จบ   (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)
คำว่า   อาวุโส  นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต
ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา
 (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษาแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)
ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร็จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง
เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน
อานิสงส์กฐินสำหรับพระ
ในพระวินัย ระบุอานิสงส์กฐินไว้ 5 คือ
1.   เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
2.   เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้
3.   ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
4.   เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5.   ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น
อานิสงส์กฐินสำหรับผู้ทอด
โดยทั่วไปผู้เขียนเองและแม้ผู้รู้บางท่านก็ยังไม่เคยพบในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล   กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย
คำถวายผ้ากฐินอย่างมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า 3 หน) แปลว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์"
คำถวายผ้ากฐิน อย่างธรรมยุตติกนิกาย
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย
แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ   ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"
หมายเหตุ
ในการทอดกฐินนี้   ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย คือ 1. จุลกฐิน 2.ธรจระเข้
1.   จุลกฐิน   มีกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าจุลกฐินเป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันว่ามาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บผ้ายมากรอเป็นด้วย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว
"วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน 12 คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน 12 อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่"   (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า 119)
2. ธงจระเข้    ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฏหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
1.   ในโบราณสมัย  การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้นก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงานทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัง คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
2.   อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้           
กฐิน
เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่ากฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท
การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย
ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน
ความหมายและความสำคัญของการถวายกฐิน
ความหมายของกฐิน
กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ "กรอบไม้" หรือ "ไม้แบบ" สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)
กฐิน อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้
กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น
กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)
กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆืเพื่อกรานกฐิน
กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์
ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้
จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป
จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้
จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง
ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ
ไปไหนไม่ต้องบอกลา
ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน
ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงกันฉันภัตตาหารได้)
เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ
จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว
ชนิดของกฐินในประเทศไทย
ตามพระวินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิด ๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของการทอดกฐินได้เป็นสองคือ
จุลกฐิน
จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำจุลกฐิน" ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น" (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)
เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย[6]
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ (เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปสำหรับขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
มหากฐิน
มหากฐิน เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อหมายความถึงการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) โดยมหากฐินนั้นอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียวหรือกฐินสามัคคีก็ได้

กฐินหลวง
กฐินหลวง เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่านั้น)

กฐินต้น
กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์

กฐินพระราชทาน
กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)
กฐินราษฎร์

ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ "บริวารกฐิน" มากกว่าผ้ากฐินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐิน
กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎร์หรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย

กฐินสามัคคี หมายถึง กฐินที่หน่วยงาน องค์กร กลุ่มบุคคลหรือบุคคลต่าง ๆ นำไปทอดถวายที่วัดราษฎร์การเตรียมการ
1. จองกฐิน หมายถึง การแจ้งความประสงค์ทีจะนำผ้ากฐินไปทอดยังวัดที่ต้องการ สำหรับพระอารามหลวงให้แจ้งที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2. บอกบุญแก่ญาติพี่น้องเพื่อร่วมทำพิธีในวันเวลาตามที่กำหนด
3. ตระเตรียมเครื่องกฐินและบริวาร ได้แก่ ผ้าไตรจีวร 3 ไตร สำหรับถวายพระผู้ครองกฐินและคู่สวด แต่ผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินจริง ๆ จะใช้เพียง 1 ผืนเท่านั้น ส่วนบริวารกฐิน ได้แก่ จตุปัจจัย ไทยทาน เครื่องใช้ของพระภิกษุ เครื่องนวกรรม เช่น จอบ มีด ขวาน เป็นต้น
กฐินสามัคคี กฐินของประชาชนหรือกฐินสามัคคี ในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญหรือวิหารสำหรับทำบุญ เจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์พิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง  การทำพิธีกฐินัตถารกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความคิดเห็นที่เรียกกันว่า อปโลกน์และการสวดญัตติทุติยกรรม คือ การยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอมนำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนะที่เดิม ประชาชนผู้ถวายผ้ากฐินทายกทายิกาและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้นเข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพผู้ถวายกฐินกรวดน้ำ จนจบบทยถาแล้ว คฤหัสถ์ทั้งหมดนั่งประนมมือรับพรพระจนจบเป็นเสร็จพิธี
เดาะกฐิน กฐินเดาะ
เดาะ ในคำไทย หมายถึงร้าวจนจะหัก เช่นไม้คานเดาะ แขนเดาะ
เดาะ ในคำวัด หมายถึงการรื้อออก การถอนออก ใช้ในเรื่องกฐินว่า เดาะกฐิน
เดาะกฐิน หมายถึง  กฐินสิ้นสุด อานิสงส์กฐินหมดเขต เป็นสำนวนพระวินัย คือพระสงฆ์ผู้ได้รับกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ข้อหนึ่งว่าขยายเวลาทำจีวรออกไปได้อีก ๔ เดือน แต่หากในระหว่างนั้นภิกษุหมดความกังวลในอาวาสโดยออกจากวัดไปไม่คิดกลับมาอีก และหมดความกังวลในจีวรคือทำจีวรเสร็จแล้วหรือทำจีวรค้างอยู่ แต่เกิดเสียหายหรือหายไปจึงหมดหวังที่จะได้ผ้ามาทำจีวรอีก เมื่อหมดกังวลหมดหวังเช่นนี้เรียกว่า เดาะกฐิน หรือ กฐินเดาะ เท่ากับรื้อไม้สะดึงแล้ว ขาดสิทธิ์ที่จะถือเอาประโยชน์จากการได้กรานกฐิน
กฐินเดาะเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน
สาเหตุที่หนึ่ง ไปขอกฐินจากเจ้าภาพด้วยตัวเอง เขาห้ามขอ ต้องให้เจ้าภาพไปปวารณา ถ้าอย่างนั้นทอดกฐินแล้วเจ้าภาพได้อานิสงส์กฐิน แต่ฝ่ายพระจะไม่ได้อานิสงส์กฐินนั้นเลย พูดง่าย ๆ ก็คือ ได้ของ ได้เงินไปเฉย ๆ อานิสงส์กฐินไม่มี แต่ว่าเจ้าภาพคนทอดจะได้
ประการที่สอง ผ้าครองกฐินนั้นขาด คำว่าขาดการครองก็คือว่า ไปพ้นจากวัดนั้นแล้ว ไม่กลับมา เขาบอกว่าไปแค่ไหนก็ตาม ถ้ายังตั้งใจว่าจะกลับมา ยังไม่ถือว่าเดาะ
ประการที่สาม คณะสงฆ์ตัดสินใจเดาะกฐินเสียด้วยตนเอง อย่างอาตมานี่ทำมาตลอด ไม่เคยใช้อานิสงส์กฐิน ประกาศเลยว่าห้ามใช้อานิสงส์กฐิน เพราะว่ามันจะสร้างความมักง่ายให้แก่เรา เนื่องจากอานิสงส์กฐินท่านบอกว่าเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลาได้ สามารถฉันปรัมปรโภชน์ได้ ผ้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของเธอไม่ต้องวิกัปเป็นเจ้าของร่วมกันกับใคร เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะมีบอกเอาไว้ในกฐินขันธกะ
คราวนี้ของเรากลัวว่า พอได้อานิสงส์กฐินมันจะเพลินไปจนกระทั่งถึงกลางเดือนสี่ ไปไหนไม่ต้องเอาผ้าไปครบสำรับ พอถึงเวลาเผลอมันก็ขาดครอง ก็เลยประกาศเดาะตั้งแต่รับกฐินเสร็จทุกครั้ง ไม่เคยให้ใช้อานิสงส์กฐิน มันจะได้ไม่ขี้เกียจ
กฐินที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เป็นอย่างไร
คำว่า " กฐิน "   แปลว่าไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับเย็บจีวรของพระภิกษุ  โดยความ หมายถึง ผ้า ผืนใดผืนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในอาวาสนั้นมีภิกษุอยู่จำพรรษา อย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจำนวนน้อยกว่านั้นไม่เป็นกฐิน
กฐิน เป็นสังฆกรรมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่ภิกษุทุกรูปต้องร่วมกันทำ  กิจกรรมทั้งหมดต้องให้เสร็จภายในวันนั้น       เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้กรานกฐินถูกต้องตามวินัยจะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการคือได้รับการผ่อนผันทางวินัยบางข้อ เช่น เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา และ ฉันคณะโภชน์ได้ เป็นต้น

ใกล้ถึงช่วง "กฐิน" แล้ว
ขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมาศึกษาเรื่องกฐิน เพื่อทำกฐินให้ถูกต้องตามพระวินัย ยังให้เกิดผลอันไพบูลย์ อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดโทษของการทำกฐินผิดพระธรรมวินัยกันก่อน เพราะถ้าทำถูกต้องแล้วจะทำให้ได้อานิสงส์ กฐิน ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งผู้ถวายและพระผู้รับกฐิน  แต่ถ้าทำผิดแล้วแทนที่จะได้อานิสงส์กฐิน กลับไม่ได้หรือได้น้อยลงไป หรือแย่ที่สุดอาจจะทำให้เกิดโทษอย่างมากก็เป็นไปได้
กฐิน เป็น ผ้าพิเศษ ในทางพระวินัยใช้ชื่อเรียกเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่อยู่ในช่วงเวลา 1 เดือน หลังออกพรรษา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาต ให้ภิกษุพร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน 3 ผืน ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้มีคุณสมบัติที่สมควรแก่การรับผ้ากฐิน และภิกษุผู้รับผ้ากฐินเป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ หลังจากนั้นจะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินผืนนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับ
อานิสงส์กฐิน 5 ประการ   ประเด็นที่ควรระลึกถึง
กฐิน คือผ้าพิเศษที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพุทธานุญาตเฉพาะ  กฐินไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของต่าง ๆ
มีช่วงเวลาที่กำหนดแน่นอนหลังออกพรรษา มีระยะเวลาเพียง 1 เดือน (1 ค่ำเดือน 11 – 15 ค่ำเดือน 12)  
ถ้าทำกฐินนอกช่วงเวลาก็จะไม่ใช่กฐิน
กฐินเป็นพระพุทธานุญาตด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ
พุทธประสงค์เรื่องกฐิน คือให้พระภิกษุได้พักผ่อน พอพื้นดินแห้งสมควรแก่การเดินทาง, เพื่อสงเคราะห์ ให้พระภิกษุได้เปลี่ยนผ้าครอง, เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ได้ช่วยกันตัดเย็บจีวรเป็นผ้ากฐิน,     เพื่อให้พระภิกษุได้รับอานิสงส์ 5 ประการ
ผ้ากฐินตามพระวินัยควรเป็น "ผ้าขาว" ทำจากเปลือกไม้ ฝ้าย ไหม ป่าน ขนสัตว์ หรือผ้าผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าทิ้งตามตลาด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ (ปัจจุบันใช้จีวรสำเร็จรูปแต่ต้องตัดเย็บให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย)
ผ้าไตร 3 ผืน ไม่ว่าจะเป็นผืนใดผืนหนึ่งจะต้องเป็นผ้าขัณฑ์ (ขัณฑ์ = ตอน ท่อน ส่วน ชิ้น เช่น จีวรมีขัณฑ์ 5 คือมีผ้า 5 ชิ้น มาเย็บติดกันเป็นผ้าผืนเดียวกัน)
ถ้าวัดไหนที่ไม่มีผู้ใดมาถวายผ้ากฐิน แก่ภิกษุในวัดเพื่อมอบให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ภิกษุในวัดทั้งหมดก็จะไม่ได้อานิสงส์กฐิน 5 ประการ
ภิกษุผู้ครองผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วย "ญัตติจตุตถกรรม" โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย,  ต้องเป็นผู้รู้ธรรม 8 ประการ, ต้องเป็นพระภิกษุไม่ต้องโทษ ไม่ต้องอาบัติ
วัดใดหากภิกษุในวัดเดียวกันทะเลาะกัน ยังไม่คืนดีต่อกัน ยังโกรธกัน ไม่พูดดีต่อกัน เป็นสังฆราชี วัดนั้นไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เพราะจะเป็นกฐินเดาะ ไม่ได้อานิสงส์กฐิน
วัดใดมีพระภิกษุไม่ครบ 5 รูป จะไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน คือต้องมีพระภิกษุในวัดเดียวกันครบ 5 รูป (เป็นอย่างน้อย) จำพรรษาครบ 3 เดือนโดยไม่ขาดพรรษา จึงจะกรานกฐินได้
ถ้าวัดใดต้องการเงินอย่างเดียว, ต้องการทั้งกฐินและเงิน  กฐินเดาะไม่เป็นกฐิน  
การบอกบุญ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ เช่น สร้างเจดีย์, โบสถ์, วิหาร, หอระฆัง ฯลฯกฐินเดาะ การแจ้งข่าวกฐินควรทำใบแจ้งทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วยควรทำใบแจ้งแยกต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน
กฐินเป็นกอง ๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ เป็นกฐินเดาะ  แต่ถ้าเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้
การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ,โทรทัศน์,หนังสือพิมพ์ฯลฯให้มาทอดกฐินที่วัดตนกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย
โทษของการทอดกฐิน โดยละเมิดพระธรรมวินัย ทำให้เจ้าภาพกฐินไม่ได้รับอานิสงส์อันประเสริฐในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สำหรับ มวลหมู่มนุษย์ การทำกฐินผิดพระธรรมวินัย เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต นำไปเก็บที่ดวงจิต อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง อสังขาริกัง กามาวจร อกุสลวิปากจิตตัง ซึ่งเป็นวิบากจิตที่เก็บผลจากการทำอกุศล (โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒) เมื่อจุติแล้วไปปฏิสนธิในอบายภูมิ สำหรับคฤหัสถ์ จุติแล้วปฏิสนธิจิต นำไปมหานรก ขุม ๗ (มหาตาปนนรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนานครึ่งอันตรกัป สำหรับพระภิกษุ การทอดกฐินผิดพระธรรมวินัย อย่างเบา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรืออย่างหนัก ต้องอาบัติปาราชิก จุติแล้วปฏิสนธิจิตนำไป มหานรกขุม ๘ (อเวจีมหานรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนานหนึ่งอันตรกัป

เรียบเรียงโดย ภิญโญ