๑۩۞۩๑ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล๊อกของผมครับ ๑۩۞۩๑

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

นิเทศศาสตร์

บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์

1. ความหมายของนิเทศศาสตร์
คำว่านิเทศศาสตร์ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีสันสกฤต 2 คำ คือ นิเทศ + ศาสตร์ เฉพาะคำว่านิเทศ แปลว่า เปิดเผย แสดง ชี้แจ้งให้รู้ ให้เห็น ส่วนคำว่า ศาสตร์ แปลว่า วิชาหรือความรู้ ซึ่งวิชาหรือความรู้ดังกล่าวนี้ต้องประกอบด้วยแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการที่ใช้ในการศึกษาอย่างเป็นระบบด้วย เมื่อรวมศัพท์เป็นนิเทศศาสตร์แล้ว จึงหมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ความคิดไปจนถึงพฤติกรรมและบริบทต่าง ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มนุษย์พยายามจะถ่ายทอดความคิดเห็นและประสบการณ์ของตนไปสู่ผู้อื่น โดยผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เนื่องจากการสื่อสารสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การสื่อสารจึงมีความหมายและขอบข่ายกว้างมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจากการเห็น การได้ยิน การพูด การสัมผัส การรับรู้ หรือแม้แต่ความคิด ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร การนำอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสาร เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มาช่วยก็ยิ่งทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. ยุคต่าง ๆ ของการสื่อสาร
มนุษย์คุ้นเคยกับการสื่อสารนานจนถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยไม่ค่อยจะมีใครนึกถึงหรือคิดว่าทำไมตนเองจึงสามารถติดต่อกับเพื่อนมนุษย์ได้ อันที่จริงเราค่อย ๆ พัฒนาการสื่อสารของเราเมื่อเริ่มเรียนรู้ภาษาพูด เรียนรู้ที่จะใช้คำเรียกสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไปทีละน้อย พัฒนาการออกเสียงอย่างช้า ๆ ทำละคำ จนเรียกสิ่งต่าง ๆ ได้ จากนั้นเริ่มใส่ความหมายลงไปในคำพูด เริ่มฝึกการให้ความหมายและตีความหมายในสิ่งที่ตนได้เห็นได้ยิน ได้สัมผัส จนถึงขั้นเรียนรู้ระเบียบสังคม มนุษย์มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อตนสามารถสื่อสารได้ด้วยวาจาและด้วยสัญลักษณ์อื่น ๆ ได้ เมื่อประมวลยุคของการสื่อสารตั้งแต่เริ่มต้นอารยธรรมของมนุษย์จนปัจจุบันนี้ จัดเป็น 5 ยุค คือ
1. ยุคภาษาท่าทาง ภาษาพูด และภาษารูปภาพง่าย ๆ เริ่มเมื่อประมาณ 2 แสนปีที่ผ่านมา
2. ยุคภาษาเขียน เริ่มเมื่อมนุษย์เรียนรู้การใช้สัญลักษณ์เขียนแทนการสื่อความหมายทางการพูดโดยเขียนเป็นตัวหนังสือหรืออักษรประมาณ 5,000 กว่าปีที่แล้ว
3. ยุคการพิมพ์ เริ่มเมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกในโลกเมื่อ ค.ศ. 1453 หรือ พ.ศ. 1996
4. ยุคโทรคมนาคม เริ่มมีการติดต่อสื่อสารกันด้วยโทรเลข โทรศัพท์ วิทยุและโทรทัศน์ในท้องถิ่นใกล้ ๆ กัน เมื่อปี ค.ศ. 1844 หรือ พ.ศ. 2387
5. ยุคเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เริ่มต้นเมื่อมีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ เครื่องแรกขึ้นใช้เมื่อปี ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489 เรื่อยมาจนปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ขึ้นมามากมาย สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก เช่น โทรศัพท์ทางไกลข้ามทวีป ดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต
3. ประเภทหรือขอบข่ายของการสื่อสาร
ประเภทหรือขอบข่ายของการสื่อสารแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. การสื่อสารภายในตน ( Intrapersonal communication ) ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด จินตนาการ คิดเองตอบเอง พูดหรือรำพึงกับตัวเอง การสื่อสารชนิดนี้นักทฤษฏีทางการสื่อสารจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับว่าเป็นการสื่อสารและไม่ให้ความสนใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการสื่อสารที่สำคัญมาก เพราะเกิดจากการที่อายตนะภายใน ( สื่อภายใน ) กับอายตนะภายนอก ( สื่อภายนอก ) บรรจบกัน อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บรรจบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ ทำให้เกิดการรับรู้ขึ้นอันนำไปสู่การตัดสินใจทำหรือพูดในชีวิตประจำวัน
2. การสื่อสารระหว่างบุคคล ( Interpersonal Communication ) หมายถึง การติดต่อสื่อสารกันระหว่างคนสองคนขึ้นไปจนถึงจำนวนมาก ที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีการแสดงออกร่วมกัน มีลักษณะร่วมบางประการคล้ายกัน และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน อาจแบ่งซอยออกเป็น 3 ประเภท คือ
ก. แบบตัวต่อตัว ( Face to face ) ได้แก่การพูดคุย สนทนากันสองต่อสอง
ข. แบบกลุ่มย่อย ( Small group ) ได้แก่ การติดต่อ การพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์กันในกลุ่มรนไม่มากนัก เช่น ในห้องเรียนหนึ่ง
ค. แบบกลุ่มใหญ่หรือองค์กร ( Large group ) ได้แก่ การติดต่อสื่อสารกันที่มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น ในมหาวิทยาลัย ในหน่วยงาน บริษัท ที่มีกิจการขนาดใหญ่
3. การสื่อสารมวลชน ( Mass Communication ) เป็นการสื่อสารหรือถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปสู่คนเป็นจำนวนมาก ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ และวิถีชีวิต โดยอาศัยอุปกรณ์การสื่อสารหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
4. ลักษณะเฉพาะของการสื่อสาร
1. มีบุคคลหนึ่งต้องการที่จะติดต่อสื่อสารกับอีกบุคคลหนึ่ง
2. ผู้ส่งสารตั้งใจที่จะใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ส่งผ่านไปยังผู้รับสาร
3. มีเป้าหมายหรือจุดประสงค์หลักในการสื่อสารแต่ละครั้ง
4. ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ข้อมูลที่สื่อออกไปนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทัศนาคติ วิถีชีวิต ฯลฯ เกิดการแลกเปลี่ยน หรือผสมผสานความรู้ในด้านต่าง ๆ ขึ้นทั้งในผู้ส่งสารและผู้รับสาร
5. เครื่องที่ใช้ในการสื่อสาร
เครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์คือภาษา เพราะภาษาเป็นพาหนะหรือสื่อที่นำสารหรือเรื่องราวไปติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาษาหมายถึงระบบสัญลักษณ์ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. วัจนภาษา ( Verbal ) ได้แก่ ภาษาที่เป็นคำพูด ถ้อยคำ และตัวหนังสือ คือ ภาษาพูดและภาษาเขียนนั่นเอง
2. อวัจนภาษา ( Non-Verbal ) ได้แก่ ภาษาที่ไม่ได้แสดงออกด้วยการพูดหรือเขียนแต่แสดงออกหรือหมายรู้กันโดยกิริยาอาการ เช่น การแต่งกาย สีหน้า แววตา ระดับของน้ำเสียง เป็นต้น
6. องค์ประกอบการสื่อสาร
ว่าโดยทั่วไป การสื่อสารมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 อย่าง คือ
1. ผู้ส่งสาร ( Sender ) หรือต้นตอ
2. สารหรือข้อมูล ( Message )
3. ผู้รับสาร ( Receiver ) หรือจุดหมายปลายทาง
การสื่อสารในลักษณะนี้เรียกว่า การสื่อสารทางเดียว ( One – way Communication ) คือ
เมื่อผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารแล้วก็จะไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใด ๆ กลับมา ส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นกับการสื่อสารมวลชน ความจริง ส่วนประกอบเหล่านี้ ครอบคลุมถึงการสื่อสารทุกประเภทด้วย
นอกจากองค์ประกอบดังกล่าวนี้แล้ว อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชื่อเสียงก็เคยเสนอส่วนประกอบของการสื่อสารด้านวาทศิลป์ไว้ 3 ประการคล้าย ๆ กันคือ
1. ผู้พูด ( Speaker ) 2. คำที่พูด ( Speech ) 3. ผู้ฟัง ( Listener )
หากพิเคราะห์ดูจะเห็นว่าส่วนประกอบทั้ง 3 นี้เป็นปัจจัยพื้นฐานของการสื่อสารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อตัว ระหว่างกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ ตลอดจนระดับมวลชน เพราะนักวิชาการทางนิเทศศาสตร์รุ่นต่อมาก็ได้พัฒนาหรือขยายขอบเขตขององค์ประกอบเหล่านี้ออกไปให้กว้างและครอบคลุมมากที่สุด จนถึงขั้นกลายเป็นแบบจำลองการสื่อสารที่หลากหลาย ( Communication Models ) แต่นักวิชาการท่านหนึ่งที่พยายามสร้างแบบจำลองการสื่อสารขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ ศาสตราจารย์ David K. Berlo แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงองค์ประกอบในการสื่อสาร เรียกว่า S – M – C – R คือ
1. S = Source ผู้ส่งสาร ได้แก่ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการจะถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ข่าวสาร และวัตถุประสงค์ของตน
2. M = Message สาร ได้แก่ ผลผลิตของผู้ส่งสาร เช่น เมื่อพูดออกมา สารก็คือคำพูดหรือถ้อยคำ เมื่อเขียน สารก็คือตัวหนังสือ เมื่อแสดงกิริยาอาการ สารก็คือท่าทาง
3. C = Channel ช่องทางการสื่อสาร ได้แก่ พาหนะหรือสิ่งที่จะนำสารให้ปรากฏต่อผู้อื่น เช่น เมื่อดูโทรทัศน์ก็มีคลื่นแสง คลื่นเสียง และตัวโทรทัศน์เป็นช่องทางนำสารให้ปรากฏ เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์คลื่นแสงและกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางนำสารให้ปรากฏ
4. R = Receiver ผู้รับสาร ได้แก่ บุคคลหรือกลุ่มคนที่รับสารซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่แหล่งสารส่งไปถึง เช่น ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ผู้ฟังวิทยุ
นอกจากแบบจำลองของเบอร์โลนี้แล้ว ยังมีแบบจำลองที่ได้รับความสนใจอีกแบบหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์ชื่อ Everett M. Rogers ได้พัฒนาต่อจากเบอร์โล ต่างแต่ได้เพิ่มองค์ประกอบขึ้น 2 อย่างตอนท้าย คือ
1. ผลของการสื่อสาร หรือ Effect คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพฤติกรรมของผู้รับสาร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้ ผลดังกล่าวมีส่วนในการโน้มน้าวหรือสร้างภาพลักษณ์แก่ผู้รับสารได้
2. ปฏิกิริยาโต้ตอบ หรือ Feedback เมื่อผู้ส่งสารได้ส่งสารไปยังผู้รับสารแล้ว ผู้รับสารจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมายังผู้ส่งอีกทีหนึ่ง ทำให้สามารถหยั่งได้ว่าการส่งสารออกไปนั้นมีผลหรือบรรลุเป้าหมายมากน้อยเพียงใด การมีปฏิกิริยาโต้ตอบนี้จะทำให้การสื่อสารครบวงจรได้ เพราะผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถสลับที่กันได้ กล่าวคือ ผู้ส่งสารกลายเป็นผู้รับสารในขณะที่ได้รับสาร และตัวผู้รับสารเองก็อาจกลายเป็นผู้ส่งสารในขณะที่ส่งสารใด ๆ โต้ตอบออกไป


บทที่ 2
สื่อสารมวลชนและจริยธรรมในการสื่อสาร

สื่อสารมวลชน ( Mass Communication ) เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งซึ่งเหมือนกับการสื่อสารโดยทั่วไป มีองค์ประกอบและกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับการสื่อสารภายในตัวบุคคล การสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารระดับกลุ่ม แต่ลักษณะเด่นของสื่อสารมวลชนได้แก่
1. มุ่งจำนวนผู้รับสารมาก ไม่มีความรู้จักมักคุ้นและแตกต่าง
2. มีการถ่ายทอดสารอย่างเปิดเผย เป็นสาธารณะ และถึงผู้รับสารในเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน แต่สารอาจไม่คงทนถาวร
3. ผู้ส่งสารมักจะดำเนินการส่งสารจากองค์กรหรือหน่วยงานที่มีการแบ่งงานกันตามความเหมาะสม และเสียค่าใช้จ่ายในการส่งสารสูง
1. องค์ประกอบของการสื่อสารมวลชน
แม้การสื่อสารมวลชนจะเป็นองค์การหรือหน่วยงานที่มีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แต่ก็มีองค์ประกอบพื้นฐานคล้ายกันกับการสื่อสารชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ
1. ผู้ส่งสาร มีลักษณะเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เช่น สำนักงานพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ บริษัทภาพยนตร์ เป็นต้น
2. สาร หมายถึง เรื่องราว สาระ ข้อมูล ข่าวสาร ที่ส่งผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงคราวละมากๆ ในเวลาเดียวกัน สารดังกล่าวได้รับการคัดเลือกแล้วเพื่อนำออกเผยแพร่ อาจอยู่ในรูปของตัวหนังสือ ภาพ หรือเสียง
3. ช่องทางการสื่อสาร ได้แก่ พาหนะที่นำสารหรือตัวที่นำพาหนะนั้นไปสู่มวลชน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
3.1 สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร รายงาน คู่มือ ตำราเรียน
3.2 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นสื่อที่อาศัยไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการส่งหรือรับสาร เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นเสียง ภาพยนตร์
3.3 สื่อกิจกรรม เป็นสื่อที่ถ่ายทอดสารโดยอาศัยกิจกรรมที่มีการชุมนุมของมวลชน เช่น นิทรรศการ การสาธิต การประกวด การรณรงค
2. หน้าที่ของสื่อสารมวลชน
ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา เมื่อคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ย่อมจะมีการแบ่งหน้าที่กันเพื่อทำให้สังคมอยู่ได้และเจริญก้าวหน้า โดยต่างก็ทำหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป สื่อสารมวลชนเองก็มีหน้าที่พอประมวลได้ดังนี้
1. เป็นยาม คอยสอดส่องดูแลเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมและมีความสำคัญเพียงพอที่จะรายงานให้ประชาชนทั่วไปได้รู้
2. เป็นกรรมการช่วยตัดสินใจ โดยการเสนอความคิดเห็น โน้มน้าว ปลุกระดมให้เกิดประชามติเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม
3. เป็นครู มีหน้าที่ให้หรือถ่ายทอดความรู้ หรือสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ เพื่อให้สมาชิกในสังคมมีความรู้และระดับการศึกษาที่ดีต่อไป
4. เป็นผู้ให้ความบันเทิง คอยบริการสังคมด้านความบันเทิง เนื้อหาของสารที่เผยแพร่นั้นมุ่งเร้าอารมณ์และความรู้สึกให้เกิดความสนุกสนานผ่อนคลาย มากกว่าจะให้เกิดความรู้ ความคิดเห็น
3. อุปสรรคของกระบวนการสื่อสารมวลชน
สิ่งที่กีดขวางซึ่งจะทำให้กระบวนการสื่อสารไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1. Mechanical Noise คือ สิ่งที่รบกวนองค์ประกอบของสื่อ เช่น มีคลื่นอื่น ๆ มารบกวนทำให้เสียงไม่ชัด ภาพไม่คม ตัวหนังสือพิมพ์สกปรก หน้าไม่ครบ
2. Semantic Noise ได้แก่ การใช้คำแสดงความหมายไม่ชัดเจน ภาษายาก หรือเป็นสำนวนที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถสื่อความหมายได้บริบูรณ์ในทันที
3. Field of experience ได้แก่ ประสบการณ์หรือภูมิหลังของทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างกันมาก ทั้งด้านการศึกษาอบรม ความสนใจ และค่านิยม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวแปรด้วย เช่น อายุ วัย เพศ เชื้อชาติ
แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่สื่อมวลชนในปัจจุบันก็มีมากมายหลากหลาย แต่ละแขนงก็มุ่งแข่งขันกันเพื่อให้ผู้รับสารเกิดความสนใจและหันมารับเฉพาะของตน ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดในด้านเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น สื่อแต่ละแขนงจึงพยายามหาวิธีจูงใจหรือเรียกร้องความสนใจต่าง ๆ นานา โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้เป็นหลัก
1. ทำสารให้ง่ายแก่การรับ ไม่สร้างความลำบากใจแก่ผู้รับ เช่น พูดให้ชัดเจนน่าฟัง มีเสน่ห์ ถ้าเป็นภาษาเขียนก็ต้องใช้ภาษาอ่านง่าย ตัวหนังสือมีสีสันสะดุดตา
2. ใช้สภาพขัดแย้งของสารเรียกร้องความสนใจ เช่น บุคคลที่มีชื่อเสียงแสดงหรือโฆษณา ใช้ไฟสว่างส่องป้ายโฆษณาตอนมืด ใช้สัตว์สอนคน ( ดังในนิทานชาดกหรือนิทานอีสป เป็นต้น )
3. แสดงให้ผู้รับสารเห็นถึงผลดีหรือผลเสียหากไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและใกล้ตัว เช่น อาชญากรรม โรคภัยต่าง ๆ การใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
4. ผลกระทบของสื่อ
การสื่อสารโดยเฉพาะสื่อสารมวลชนนั้นเป็นเสมือนดาบ 2 คม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งและผู้รับจะมีศักยภาพใช้คมด้านไหนหรือป้องกันไม่ให้คมด้านไหนหันเข้าทำร้ายตัวเอง ดังนั้น การตัดสินใจหรือบริโภคข้อมูลข่าวสารจึงต้องมีเหตุผลหรือวิจารณญาณประกอบด้วย จึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อ เพราะสื่อนั้นมีทั้งคุณทั้งโทษ และยังเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีการดำเนินงานกระทบต่อสังคมและสมาชิกในสังคมด้วย ผลกระทบดังกล่าวนี้มีมากมาย แต่พอสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้
1. มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ค่านิยม และวิถีชีวิตของประชาชน ทำให้เปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจชักนำของสื่อ ทำให้เกิดการเลียนแบบหรือเอาอย่าง
2. เกิดการไหล่บ่าและท่วมทับทางวัฒนธรรมประเพณี เป็นการใช้สื่อที่ทรงประสิทธิภาพล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรมประเพณี เพราะสื่อที่มาจากแหล่งที่มีประสิทธิภาพกว่าย่อมได้เปรียบที่จะทำโลกให้อยู่ภายใต้รูปแบบที่สื่อนั้น ๆ นำเสนอ จนกลายเป็นเหมือนมีเพียงหมู่บ้านเดียว ( Global Village )
3. เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง เพราะสื่อนั้นสามารถโน้มน้าว และโฆษณาชวนเชื่อให้คนหลงตามได้
5. จริยธรรมในการสื่อสาร
เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมสถาบันหนึ่งที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงมากในปัจจุบัน บุคคลที่อยู่ในสถาบันสื่อสารมวลชนหากปราศจากจริยธรรมก็อาจจะนำเสนอสิ่งที่เป็นอันตราย หรือนำความเสื่อมโทรมมาสู่สังคมโดยรวมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีจริยธรรมส่วนบุคคลคอยกำกับ กล่าวคือ
1. มีความเป็นกลาง คือ จะต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางและตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้น
2. มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หากตนเองทำสิ่งใดแล้วเห็นว่าเป็นความผิดหรือไม่เหมาะไม่ควร ก็ควรมีสำนึกต่อส่วนรวมเช่นกันว่าจะทำให้ส่วนรวมเดือดร้อนได้
3. มุ่งประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ไม่ใช่มุ่งผลประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง ข้อมูลข่าวสารใดที่เสนอแล้วแม้จะให้ผลตอบแทนมาก แต่ถ้าทำลายประโยชน์สุขหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมก็ต้องงด
4. มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ไม่ยอมปล่อยให้สื่อถูกครอบงำจากอำนาจภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการเงิน อำนาจทางอิทธิพลข่มขู่ต่าง ๆ ที่จะมาปิดบังหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
จะเห็นว่าเหล่านี้เป็นจริยธรรมส่วนตัวที่สื่อแต่ละแขนงควรยึดถือประจำใจ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทำตามได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประกาศจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอออกมาเพื่อให้สื่อแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ได้ตระหนักและถือเป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่มี 7 ประการ ดังต่อไปนี้
1. มีความรับผิดชอบ ( Responsibility ) ได้แก่ รับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของแต่ละบุคคล ตลอดจนต่อประเทศชาติ พระศาสนา และราชบัลลังก์
2. มีเสรีภาพ ( Freedom ) ได้แก่ ความอิสรเสรีในการที่จะรับผิดชอบ
3. มีความเป็นไท ( Independence ) คือ ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือทาสของใคร ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง
4. ความจริงใจ ( Sincerity ) คือ มีเจตนาที่จะไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้าหากผิดพลาดต้องรีบแก้ไข
5. ความเที่ยงธรรม ( Impartiality ) ไม่ลำเอียง ไม่เข้าใครออกใคร
6. มีใจเป็นนักกีฬา ( Fair Play ) คือ ปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวม
7. มีมารยาท ( Decency ) คือ ใช้ภาษาและภาพที่ไม่หยาบโลน ลามกอนาจารหรือส่อไปในทางไม่ดี


บทที่ 3
ความสำคัญของการสื่อธรรมและศัพท์ที่เกี่ยวกับการสื่อธรรม
1. ความสำคัญของการสื่อธรรม
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาใหญ่และสำคัญยิ่งศาสนาหนึ่งในโลกปัจจุบัน หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับกันว่า มีเหตุมีผลสามารถอำนวยให้เกิดความสุขความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติตามได้อย่างแท้จริง พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้และยังคงดำรงมั่นมาถึงปัจจุบันนี้เป็นการเผยแผ่ ( หรือจะเรียกให้เข้ากับชื่อวิชานี้ว่า “ เพราะการสื่อธรรม ” ) ของพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ตลอดจนเหล่าสาวกรุ่นหลัง ที่ได้ช่วยกันประกาศและกระจายหลักธรรมคำสั่งสอนอันทรงคุณค่าเหล่านี้รุ่นต่อรุ่นจนถึงมือของพวกเรา การสื่อธรรมประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของพุทธบริษัทโดยเฉพาะพระสงฆ์สามเณร หากท่านเหล่านี้มีความสามารถในการสื่อสารหรือการพูดถ่ายทอดเนื้อหาสาระของพระพุทธศาสนาได้ดี สามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้เกิดความเลื่อมใสขึ้นได้ และทำให้ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วเกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ แสดงว่า พระพุทธศาสนายังอยู่ได้ ดังนั้นการเรียนรู้ และฝึกฝนการสื่อธรรมให้ชำนิชำนาญจึงเป็นการสร้างความมั่นคงและสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงวางรากฐานไว้อีกด้วย เนื่องจากพระองค์ได้ตรัสสอนสั่งไว้ว่า
“ ภิกษุทั้งหลายเราตถาคตพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายมีธุลีในตาน้อย ก็มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม ”
จากพระพุทธดำรัสข้างต้นนี้ มีประเด็นสำคัญที่ควรคิดอยู่ 3 ประการ คือ
1. ผู้ที่จะออกไปประกาศพระศาสนานั้นจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนให้ดีเสียก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่นที่หลัง พูดง่าย ๆ คือ ต้องมีของดี ( รู้ดี ปฏิบัติดี ) ไปอวดเขาให้ได้
2. ต้องมุ่งประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มากเป็นนักเสียสละไม่เห็นแก่ได้หรือเห็นประโยชน์ส่วนตน
การแสดงธรรมหรือการสื่อธรรมของพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่จะใช้วิธีพูดเป็นหลัก ดังนั้น การพูดจึงสำคัญที่สุด เพราะถ้าพูดได้ดี มีวิธีการ มีศิลปะ ย่อมสามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังให้เกิดความพอใจ ได้สาระ และเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาได้ ท่านสุนทรภู่ได้กล่าวยืนยันความสำคัญของการพูดไว้ว่า
ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โบราณว่า
หนังสือเป็นตรี มีปัญญา ไม่เสียหาย
ถ้ารู้มาก ไม่ใช้ปาก ลำบากกาย
มีอุบาย พูดไม่เป็น เห็นป่วยการ ฯ
การพูดจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ไปในตัว ที่ว่าเป็นศาสตร์นั้น คือ มีกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนที่สามารถศึกษา และฝึกฝนให้ช่ำชองขึ้นมาได้ กลายเป็นพูดมีหลักเกณฑ์ มีที่ไปที่มา มีเหตุผล ไม่ใช้น้ำท่วมทุ้ง ผักบุ้งโหรงเหรง ที่ว่าเป็นศิลป์นั้น หมายถึง เป็นความสามารถเฉพาะตัว หรือเป็นความถนัดเฉพาะตัว ลีลาใครลีลามัน ไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครจะสามารถสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวขึ้นมาได้
2. ศัพท์เกี่ยวกับการสื่อธรรม
ในพระพุทธศาสนามีศัพท์ที่เกี่ยวกับการสื่อธรรม แสดงธรรม หรือเผยแผ่ธรรมอยู่มากมาย ซึ่งถือว่าเป็นศัพท์เฉพาะ ( Technical Term ) การที่ได้เรียนรู้ความหมายของศัพท์เหล่านี้จะช่วยให้การสื่อธรรมกว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะตามความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไปนั้นการสื่อธรรมจะอยู่ในรูปแบบเป็นพิธีรีตอง เช่น มีใบลาน มีธรรมาสน์ มีการจุดเทียนส่องธรรม มีผู้อาราธนา ฯลฯ แต่ความเป็นจริงแล้วยังเป็นความเข้าใจที่คับแคบ ไม่ครอบคลุมจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา จึงจะขอนำศัพท์ที่สำคัญมาแสดงพอเป็นแนวทาง ดังต่อไปนี้
เทศนา / เทสนา / ธรรมเทศนา หมายถึง การแสดง ชี้แจ้งหลักธรรม เพื่อให้ผู้ฟังรู้จักดีชั่วหรือรู้เข้าใจหลักคำสอนทางศาสนา มี 2 วิธี คือ
1. บุคคลาธิษฐานเทศนา แสดงโดยการยกตัวอย่างหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยมาประกอบหลักธรรม เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มชัด การแสดงในแนวนี้ที่พบดาษดื่นในคัมภีร์ก็เช่นในอรรถกถาธรรมบทและในอรรถกถาชาดก ที่พระอรรถกถาได้ยกพระพุทธดำรัสตั้งแล้วนำเรื่องราวที่สอดคล้องกับพุทธภาษิตนั้น ๆ มาประกอบเป็นตัวอย่าง
2. ธรรมาธิษฐานเทศนา แสดงเนื้อหาสาระล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับอุทาหรณ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ มุ่งอธิบายหลักการ การแสดงธรรมแนวนี้พบในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฏก ซึ่งกล่าวถึงหลักธรรมและจำแนกหลักธรรมในลักษณะต่าง ๆ
หากเปรียบเทียบการแสดงธรรมทั้ง 2 อย่างนี้ อย่างแรกดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้ฟังได้มากกว่า เพราะมีทั้งหลักการและตัวอย่างประกอบ ทำให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนอย่างหลังนั้นเหมาะสำหรับนักปราชญ์หรือผู้คงแก่เรียนที่ชอบหลักการล้วน ๆ เป็นนักคิดนักวิเคราะห์หาเหตุผล การสื่อธรรมแบบเทศนานี้ในยุคหลังพุทธกาลจนถึงปัจจุบันได้ถูกบูรพาจารย์กำหนดให้มีระเบียบแบบแผนประกอบมากมายจนกลายเป็นพิธีการแสดงธรรมที่มีขั้นตอนหรือรูปแบบชัดเจน กล่าวคือมี 2 รูปแบบที่สำคัญ
1. ต้องมีหลักเทศน์ คือ วิธีการหรือมารยาทในการเทศน์ โดยเริ่มตั้งแต่การขึ้นธรรมาสน์ จับคัมภร์ วางอิริยาบถ ลีลาหรือท่วงทำนองการใช้เสียง ฯลฯ
2. ต้องมีหลักธรรม คือ เรื่องที่จะนำมาแสดงนั้นต้องเลือกให้เหมาะแก่บุคคล กาละ เทสะ เนื้อหาสาระต้องดำเนินไปตามลำดับ กล่าวคือ
ก. อุทเทส คำขึ้นต้น ต้องขึ้นต้นด้วย นโม.... แล้วต่อด้วยพุทธภาษิต ให้ถูกต้องตามวรรคตอนที่กำหนด
ข. นิเทศ คำอธิบายหรือชี้แจงโดยละเอียด ยกเรื่องราวหรืออุทาหรณ์ประกอบ
ค. ปฏินิเทศ บทสรุป ฝากคำหรือข้อความที่สะกิดใจ เตือนใจให้ได้คิด ปิดท้ายด้วย เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
โอวาท หมายถึง คำแนะนำ ตักเตือน กล่าวสอน เพื่อให้เขาทำตามโอวาทของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ
1. ให้เว้นจากทุจริต คือ การประพฤติชั่วทางกายและวาจา
2. ประกอบสุจริต คือ การประพฤติชอบด้วยกายและวาจา
3. ชำระใจของตนให้หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
โอวาทนี้ตรงหกับภาษาที่พูดกันปัจจุบันนี้ว่า ให้โอวาท ซึ่งก็คือการกล่าวสอนเป็นครั้งคราวตามแต่โอกาส
เหมาะสม เช่น ทุกวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา แต่ไม่ได้ทำเป็นพิธีการเต็มที่เหมือนธรรมเทศนา ลักษณะเด่นของโอวาทมีดังนี้
1. แนะนำ คือ แนะให้เห็นจริงในความดี เพื่อโน้มน้าวให้นำไปปฏิบัติ
2. แนะแนว บอกวิธีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ชี้ให้เขาเห็นทางถูกต้องและสามารถทำตามได้
3. ตักเตือน พูดเตือนสติให้รู้สึกตัวและให้ละสิ่งที่ผิด มิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมกับเสนอแนวทางที่ควรปฏิบัติให้ทราบ เช่น พระพุทธเจ้าทรงเตือนสิงคาลกมาณพเรื่องทิศ 6 และตรัสบอกทิศ 6 ที่ถูกต้องให้แก่เขา
อนุสาสน์ / อนุศาสน์ หมายถึง คำชี้แจ้ง คำสอน ข้อตกลงเบื้องต้น ที่อาจารย์หรืออุปัชฌาย์บอกแก่
สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกใหม่ในเวลาอุปสมบทเสร็จ เช่นเดียวกันกับทหารใหม่ที่จะเข้าประจำหน่วยต่าง ๆ หรือนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะต้องรับรู้กฎระเบียบของสถาบัน เพื่อความสงบเรียบร้อยของหมู่คณะและเป็นสมาชิกใหม่ที่พึงประสงค์ของสถาบันนั้น ๆ อนุสาสน์ที่อาจารย์และอุปัชฌาย์บอกแก่สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกนั้น เรียกว่า นิสสัย 4 อกรณียกิจ 4 ซึ่งได้แก่
นิสสัย 4 หรือบางทีเรียกว่าปัจจัย 4 หมายถึง สิ่งที่นักบวชในพระพุทธศาสนาต้องอาศัยเลี้ยงชีพ 4 อย่างคือ
1. จีวร 2. บิณฑบาต 3. อยู่ป่าหรือเสนาสนะ 4. ยารักษาโรค
ส่วนอกรณียกิจ 4 หมายถึง สิ่งที่บรรพชิตจะทำไม่ได้มี 4 อย่างคือ 1. มีเพศสัมพันธ์ 2. ลักขโมยของมีราคาตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป 3. ฆ่ามนุษย์ 4. อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน
อนุสสนี หมายถึง การพร่ำสอน สอบแบบติดตามผล ประเมินผล็อย่างสม่ำเสมอ จนผู้รับคำสอนนำไปปฏิบัติได้จริง เห็นจริง และได้ผลจริง เช่นเดียวกับมารดาบิดาพร่ำสอนบุตรธิดา ครูอาจารย์พร่ำสอนศิษย์ อนุสาสนีนี้ทำอย่างจริงจังก็จะสำเร็จผลและถือเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในบรรดาปาฏิหาริย์ 3 อย่าง กล่าวคือ
1. อิทธิปาฏิหาริย์ มีความสามารถในการแสดงฤทธิ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ รู้ใจหรือดักใจของผู้ฟังได้อย่างน่าอัศจรรย์
3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สอนให้รู้แจ้งจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์
พระพุทธองค์ทรงเลือกใช้วิธีแบบอนุสาสนีนี้มากที่สุดและได้ผลมากที่สุด ในขณะที่เจ้าลัทธิหรือศาสดาจารย์ท่านอื่น ๆ นิยมใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ในการสอนศาสนาเพื่อให้คนนับถือตน
อุปนิสินนกถา หมายถึง การนั่งคุยหรือสนทนาอย่างเป็นกันเอง แต่สอดแทรกธรรมหรือคติสอนใจ โดยไม่ต้องมีรูปแบบหรือพิธีการใด ๆ เพราะไม่ได้มุ่งที่จะสอนธรรมอย่างเอาจริงเอาจังและไม่ได้กำหนดเรื่องราวที่จะพูดมาก่อน แต่ถือโอกาสที่จะแทรกคำสอนเข้าไปด้วยเป็นระยะ ๆ ตามที่เห็นสมควรหรือตามสถานการณ์ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ผู้ฟังมักเกิดความรู้สึกที่ดี ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกสั่งสอน อุปนิสินนกถาอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- พูดให้กำลังใจหรือชื่นชมยินดีเขา เมื่อเขาทำดี
- พูดปลอบใจ เมื่อเขามีทุกข์
- พูดสะกิดใจ เมื่อเขาหลงผิด
- พูดโน้มน้าวจิตใจให้เขาศรัทธาในความดี เมื่อเขาไม่เห็นคุณค่าของความดี
- พูดคำคม สุภาษิต คำพังเพย สั้นแต่กินใจ ความหมายลึกซึ้ง ตามที่เห็นควร
ตัวอย่างเช่น พระพุทธองค์ทรงชวนสามเณรสังกิจจะคุยอย่างเป็นกันเอง ขณะที่สามเณรตามเสด็จ จน
สามเณรได้ดวงตาเห็นธรรม หรือพระสารีบุตรพูดเปรียบเทียบของที่แตกหักได้กับชีวิตที่แตกดับได้ให้นางมัลลิกาฟัง ขณะที่หญิงคนใช้ของนางทำจานแตกต่อหน้า
ธรรมสากัจฉา หมายถึง การพูดคุยสนทนากันในเรื่องหลักธรรมโดยเฉพาะ แม้จะมีเรื่องอื่นแทรกบ้างก็เพื่อสนับสนุนหลักการที่กำลังพูดคุยเท่านั้น การสนทนาธรรมแบบนี้มักจะดำเนินไปด้วยความตั้งอกตั้งใจและเอาจริงเอาจัง มีทิศทางหรือเป้าหมายชัดเจนการสนทนาธรรมนี้อาจมีแค่ 2 คน หรือทำกันเป็นกลุ่ม เป็นคณะก็ได้ขึ้นอยู่กับโอกาสและความสะดวก ซึ่งอาจจำแนกเป็น 2 แบบ คือ
1. สนทนาธรรมตามกาล คือ สนทนากันตามวันเวลาที่ต้องมาพบกันเป็นปกติ เช่น ทุกวันอาทิตย์ วันพระ หรือแม้จะไม่ได้ตรงตามกำหนดปกติ แต่พอมีโอกาสอำนวยก็ตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันก็ได้ เช่น ในร้านกาแฟตอนเช้า
2. สนทนาธรรมตามนัดหมาย มักจะมีการนัดล่วงหน้า กำหนดสถานที่และเวลา มักทำเป็นกิจลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว เช่น รายการสนทนาปัญหาบ้านเมือง ไอทีวีทอล์ก
ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เช่น ในเวลาเย็น พระพุทธองค์มักจะเสด็จไปยังที่ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงร่วมวงสนทนาเรื่องต่าง ๆ ที่เหล่าภิกษุกำลังสนใจและสนทนากันพร้อมกันนั้น พระองค์ทรงนำเสนอหลักธรรม หรือประทานพระโอวาท ตามสมควร
ปุจฉาวิสัชนา หมายถึง การสื่อธรรมในแนวถาม – ตอบ ด้วยการตั้งประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจตามยุคสมัย วิธีนี้ทั้งผู้ถามและผู้ถูกถามต้องทราบถึงพื้นฐานความรู้ของกันและกันพอสมควร เพื่อจะได้ช่วยกันนำเสนอหลักคำสอนได้ลงรอยกัน ไม่ขัดกันเองหรือเขวออกนอกประเด็นจนเสียหลักการ วิธีการสื่อธรรมแบบนี้สามารถทำได้ 3 วิธีคือ
1. เป็นฝ่ายถามเพื่อให้ผู้อื่นตอบ
2. เปิดโอกาสให้เขาถาม เพื่อให้ตนเองตอบ
3. ถามเอง ตอบเอง ในประเด็นที่ตนเองถนัดหรือเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
การสื่อธรรมลักษณะนี้สันนิษฐานว่า มีที่มาตั้งแต่คราวสังคายนาครั้งที่ 1 โดยยึดถือแบบอย่างที่ท่าน
พระมหากัสสปะเป็นฝ่ายถาม พระอานนท์กับพระอุบาลีเป็นฝ่ายตอบ ซึ่งเรื่องที่ถามตอบนั้นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยที่ท่านทั้ง 2 ได้ยินได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าและทรงจำไว้ได้ โดยตอบต่อหน้าพระอรหันต์ 500 รูป ชาวพุทธรุ่นต่อมาจึงได้ถือเป็นแบบอย่างในการสื่อธรรมโดยจัดให้ 2 ธรรมาสน์บ้าง 3 ธรรมาสน์บ้าง ข้อที่พึงตระหนักคือ ผู้ที่ทรงภูมิความรู้สูงกว่ามักจะเป็นฝ่ายถาม ผู้ที่ด้อยกว่าด้านคุณวุฒิเป็นฝ่ายตอบ เพราะหากมีข้อบกพร่องประการใด ฝ่ายถามจะช่วยอธิบายเสริมได้เป็นการประคับประคองกันไป ไม่ใช่คอยซ้ำเติมกันต่อหน้าผู้ฟัง
ปาฐกถา หมายถึง การพูดเดี่ยว แสดงคนเดียว ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก อาจจะมีเพียงไมค์กับที่ยืนหรือที่นั่งก็พอ ไม่ต้องเน้นลีลาท่วงทำนองของเสียง ไม่อ้างบาลีพร่ำเพรื่อ ผู้ฟังก็จะนั่งตามสบาย ไม่ต้องพนมมือฟัง ส่วนใหญ่จะจัดในงานที่มีการประชุม สัมมนา หรือเทศกาลสำคัญที่มีคนไปร่วมจำนวนมาก เช่น ที่ท้องสนามหลวงหน้าศาลากลางจังหวัด พระที่ประสบผลสำเร็จในการแสดงปาฐกถาจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมีหลายรูป เช่น พุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อปัญญานันทะหรือพระธรรมโกศาจารย์ พระพะยอมหรือพระพิศาลธรรมพาที ผู้ที่ได้ฟังปาฐกถาจะเกิดความสนใจใคร่ติดตาม เพราะเห็นว่าฟังเข้าใจง่าย ไม่มีพิธีรีตองมาก เรื่องที่พูดทันสมัยและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตจริงของผู้ฟัง การสื่อธรรมประเภทนี้พึ่งจะได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมไทยไม่เกิน 50 ปีมานี่เอง เข้าใจว่าคงจะได้แบบอย่างมาจากการหาเสียง หรือพูดปลุกระดมมวลชนในที่สาธารณะของประเทศในแถบตะวันตก เช่น ในยุโรปหรืออเมริกา

บทที่ 4 การสื่อธรรมในพระพุทธศาสนา
ตามกระบวนการสื่อสารนั้นต้องมีองค์ประกอบการสื่อสารพื้นฐานอย่างน้อย 3 อย่างคือ ผู้ส่งสาร สาร และผู้รับสาร หรือถ้าว่าตามหลักวาทศิลป์ของอริสโตเติลก็มี 3 ประการคล้าย ๆ กัน คือ ผู้พูด คำที่พูด และผู้ฟัง การสื่อธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ถ้าใช้องค์ประกอบการสื่อสาร 3 ประการนั้นมาวิเคราะห์โดยยึดการบำเพ็ญพุทธกิจเป็นหลัก ก็น่าจะอยู่ในรูปแบบดังต่อไปนี้
1. ผู้ส่งสาร ได้แก่พระพุทธเจ้า ถือเป็นผู้ส่งสารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เนื่องจากทรงมีความเพียบพร้อมทั้งคุณสมบัติภายนอกและภายใน ที่เรียกว่าคุณสมบัติภายนอกได้แก่ บุคลิกภาพ อากัปกิริยามารยาทน่าเลื่อมใส มีเสน่ห์ พระวรกายงามสง่า ประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการและอนุพยัญชนะ 80 ประการ นอกจากนี้เวลาที่ทรงเปล่งพระสุรเสียงก็ไพเราะสุภาพ นุ่มนวลชวนฟังดุจเสียงพรหม ส่วนคุณสมบัติภายในนั้นได้แก่พระพุทธคุณซึ่งมีมากมาย แต่ว่าโดยย่อมี 3 ประการ คือ
1. พระปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญาอันเฉลียวฉลาด หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทรตลอดจนอุปนิสัยใจคอของเวไนยสัตว์เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทรงแตกฉานในปฏิสัมภิทา 4 คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษาศาสตร์ และในปฏิภาณโวหาร
2. พระวิสุทธิคุณ พระองค์เองทรงหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่มีข้อบกพร่องให้คนตำหนิได้ ทรงทำได้อย่างที่สอน ( ยถาวาที ตถาการี ) และมีความบริสุทธิ์พระทัยในการสอน คือ มุ่งหวังประโยชน์แก่เขา ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
3. พระมหากรุณาคุณ ทรงมีความเมตตากรุณาสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มชน โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย ยิ่งเป็นการทำให้พระพุทธคุณ 2 อย่างแรกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พระมหากรุณาของพระองค์ หากเราศึกษาดูจากกิจวัตรประจำวันของพระองค์แล้ว จะเห็นว่า ตลอดระยะเวลา 45 พรรษาที่ทรงทำหน้าที่ในฐานะเป็นพระบรมศาสดานั้น ทรงเป็นบุคคลที่ทำงานหนักที่สุดคนหนึ่งในโลก โดยทรงใช้ชีวิตในแต่ละวันให้หมดไปกับการสื่อธรรม ชนิดไม่มีวันหยุด แบ่งเป็น 5 ช่วงใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ปุเรภัตตกิจ คือ กิจวัตรภาคเช้าก่อนอาหาร เริ่มจากตื่นบรรทมแต่เช้าเสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในที่นั้น ๆ จึงเสด็จกลับพระวิหาร รอให้พระสงฆ์ฉันเสร็จค่อยเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฏี

2. ปัจฉาภัตตกิจ ภาคบ่าย ระยะที่ 1 เสด็จออกจากพระคันธกุฏี ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปทำกิจกรรมในที่ต่าง ๆ เสด็จเข้าพระคันธกุฏี อาจทรงพักผ่อนเล็กน้อย ระยะที่ 2 ทรงตรวจความเป็นไปของสัตว์โลกด้วยพุทธญาณ ระยะที่ 3 ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในถิ่นนั้น ๆ ที่มาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรม
3. ปริยามกิจ ยามแรกแห่งราตรี หลังจากทรงสนาน ( อาบน้ำ ) แล้ว ทรงปลีกพระองค์อยู่เงียบ ๆ สักพัก จากนั้นมีภิกษุสงฆ์มาเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาบ้าง ขอกรรมฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมเสริมบ้าง ทรงใช้เวลาตลอดยามนี้พบปะกับพระสงฆ์เป็นหลัก
4. มัชฌิมยามกิจ ในมัชฌิมยาม ( ประมาณหลังเที่ยงคืน ) เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายกันไปแล้ว ทรงใช้เวลาช่วงนี้พบปะกับเหล่าเทวดาที่มาเพื่อทูลถามปัญหา
5. ปัจฉิมยามกิจ ในช่วงปัจฉิมยามกิจ ทรงแบ่งเวลาเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเสด็จดำเนินจงกรมเพื่อเป็นการผ่อนคลายพระวรกาย ระยะที่ 2 ทรงบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีสติสัมปชัญญะ ระยะที่ 3 ประทับพิจารณาสอดส่องเลือกสรรดูว่าในวันต่อไปมีบุคคลใดควรเสด็จไปโปรดเป็นพิเศษ เมื่อทรงกำหนดไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ 1 ตามเดิม หมุนเวียนกันอยู่เช่นนี้จนตลอดพระชนมชีพ
บูรพาจารย์ได้แต่งพุทธกิจ 5 ประการในแต่ละวันไว้เป็นคาถาเพื่อจำง่ายว่า
ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ฯ
2. สาร ได้แก่ เนื้อหาสาระที่พระพุทธเจ้าทรงถ่ายทอดหรือสื่อแก่ผู้ฟังระดับต่าง ๆ ต่อมาท่านรวบรวมเรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ ซึ่งหมายถึงรูปแบบแห่งคำสั่งสอนของพระบรมศาสดามีองค์ 9 ในพระไตรปิฎก คือ
1. สุตตะ ระเบียบคำสอนที่เป็นคำบรรยายให้ผู้ฟังเห็นประจักษ์ บางกรณีอาจเป็นอุปมาหรือตั้งประเด็นปัญหาขึ้นถามแล้วตอบก็มี เช่น ที่ปรากฏในพระสูตรทั่วไปโดยเฉพาะในคัมภีร์นิทเทส รวมทั้งในพระวินัยปิฎกด้วย
2. เคยยะ ระเบียบคำสอนที่อยู่ในรูปร้อยกรองผสมกับร้อยแก้ว เช่น ในพระสูตรที่มีคาถาประพันธ์รวมอยู่ด้วย
3. เวยยากรณะ คำสอนที่เป็นร้อยแก้วล้วน เช่น ในพระอภิธรรมปิฏกและพระสูตรทั้งหลายที่ไม่มีคาถาประพันธ์
4. คาถา คำสอนที่อยู่ในรูปร้อยกรองล้วน ส่วนใหญ่อยู่ในคัมภีร์ธรรมบท เถรคาถาและเถรีคาถา
5. อุทาน ระเบียบคำที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งออกมาโดยมิได้นึกไว้ก่อน มีดาษดื่นในคัมภีร์อุทาน
6. อิติวุตตกะ ระเบียบคำสอนที่มีการกล่าวอ้างข้อความอื่นมาประกอบโดยมีคำว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา ( สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ) เป็นคำเชื่อมก่อนนำเข้ามาสู่คาถาหรือพุทธพจน์
7. ชาตกะ คำสอนที่มุ่งเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่
8. อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก เช่น สมัยพระองค์ยังอยู่ในพระครรภ์ ทรงอยู่ในท่านั่งสมาธิ ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระองค์เรื่องหนึ่ง
9. เวทัลละ คำสอนประเภทถาม – ตอบ เมื่อถามตอบเสร็จแล้วได้ความรู้ความปลื้มใจ
3. ผู้รับสาร ผู้สื่อสารที่ดีนั้นจะต้องรู้จักระดับของผู้รับสารหรือผู้ฟังว่า มีสติปัญญาสามารถจะรับได้แค่ไหน อย่างไร แล้วปรับปรุงหรือประยุกต์สารให้เหมาะกับผู้รับนั้น ๆ เมื่อจำแนกบุคคลตามสติปัญญามี 4 ประเภท และเปรียบได้กับดอกบัว 4 เหล่า คือ
1. อุคฆฏิตัญญู บุคคลผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลันพอได้ยินหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้นเทียบได้กับบัวพ้นน้ำ พอได้รับแสงแดดในตอนเช้าก็จะบานได้ทันที
2. วิปจิตัญญู บุคคลผู้สามารถจะเข้าใจได้เมื่อได้รับคำอธิบายขยายความเพิ่มเติม เทียบได้กับบัวปริ่มน้ำ ( เสมอน้ำ ) เมื่อได้รับแสงแดดก็จะบานในวันต่อไปได้
3. เนยยะ บุคคลผู้พอจะหาทางชี้แจงแนะนำได้ อาจใช้เวลาเอาใจใส่นานหน่อย เปรียบได้กับบัวใต้น้ำจักบานในวันต่อ ๆ ไป
4. ปทปรมะ บุคคลผู้อับปัญญา มีดวงตามืดมิด ไม่อาจบรรลุคุณวิเศษใด ๆ ในชาตินี้ได้ เทียบได้กับบัวจมอยู่ในโคลนตม มีแนวโน้มว่าจะเป็นอาหารของสัตว์น้ำต่อไป ท่านศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปทปรมะนี้ไว้ว่า “ หมายถึงผู้ที่จะต้องใช้บทบาทหรือต้องออกแรงมากจึงจะเข้าใจได้ น่าจะมี 2 ประเภทคือ
1. ประเภทสอนไม่ได้เลย เป็นคนประเภทปัญญาอ่อน ไม่มีทางจะเข้าใจอะไรที่ลึกซึ้งได้
2. ประเภทมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง และยึดถือในความเห็นของตนอย่างเหนี่ยวแน่น คนประเภทนี้ต้องใช้วิธีประคบประหงมพิเศษ ”
พระธรรมปิฏก ( ป.อ. ปยุตโต ) ได้ทรรศนะเกี่ยวกับปทปรมบุคคลไว้เช่นกันว่า “ ปทปรมะนั้นมิได้หมายความว่าสอนไม่ได้เลยทีเดียว แต่หมายถึงบุคคลที่ช่วยได้อย่างมากเพียงให้รู้พยัญชนะเท่านั้น แต่ไม่อาจเข้าใจอรรถ เป็นผู้ที่พระพุทธศาสนาไม่ได้ทอดทิ้ง เพราะถือว่า แม้เขาจะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่ก็ยังต้องช่วยสั่งสอนอบรมเพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไป จึงควรต้องช่วยให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ ”
อันที่จริงบัว 4 เหล่านี้มิได้มาในพระไตรปิฎก เพราะในพระไตรปิฎกมีแค่บัว 3 เหล่าเท่านั้น คือ บัวพ้นน้ำ เสมอน้ำ และใต้น้ำ ( โปรดดูรายละเอียดในพระวินัยปิฎกมหาขันธกะเล่มที่ 4 ) ส่วนเพิ่มเข้ามาเป็นบัวใต้ตมนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้เพิ่มเข้ามาในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา เพื่อจะให้เข้าคู่กันกับบุคคล 4 จำพวก
อนึ่ง ผู้รับสารที่ดีตามนัยแห่งพระพุทธศาสนานั้นไม่ควรรีบปลงใจเชื่อถือตามที่ตนได้ยินได้ฟังเท่านั้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสเตือนไว้ในกาลมสูตร ความว่า
“ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อตามเสียงเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำรา อย่าปลงใจเชื่อด้วยตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อด้วยคิดว่าเข้ากันกับทฤษฎีของตน อย่าปลงใจเชื่อเพราะเห็นว่ารูปลักษณะน่าเชื่อ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา ต่อเมื่อใดรู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น แล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น ” ( อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต 20/505/241)
ประสิทธิผลที่จะเกิดตามมามากหากผู้รับสารสามารถรับฟังได้เต็มที่ ท่านเรียกว่าอานิสงส์แห่งการฟังธรรม 5 ประการ คือ
1. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้
2. ทำสิ่งที่เคยฟังหรือเคยรู้แล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
3. แก้ข้อสงสัยเสียได้
4. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
5. จิตใจย่อมผ่องใส
จริยธรรมสำหรับผู้สื่อธรรม
ผู้ที่จะสื่อธรรมนั้นเมื่อได้ตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้แล้ว จำต้องมีหลักธรรมประจำใจในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ถ้ายังไม่มีพร้อมก็ต้องเร่งขวนขวายให้พร้อม โดยเริ่มสำรวจตัวเองก่อนว่ามีคุณสมบัติที่จะสอนเขาได้หรือยัง ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้เรียกว่า องค์คุณของกัลยาณมิตร 7 ประการ ( อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาติ 23/34/33 )กล่าวคือ
1. เป็นคนน่ารัก เป็นที่ไว้วางในและสนิทสนมได้
2. เป็นผู้เคารพ รู้สึกอุ่นใจเมื่อใครได้เข้าใกล้ เป็นที่พี่งได้
3. น่ายกย่องในฐานะผู้ทรงความรู้และมีปัญญาแท้จริง
4. รู้จักพูด คอยให้คำแนะนำตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
5. พร้อมที่จะรับฟังปัญหาต่าง ๆ เสมอ ไม่เบื่อหน่ายในการรับฟัง
6. มีความสามารถในการสื่อสารเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งให้เขาเข้าใจได้
7. ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย
เมื่อมีคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว เวลาจะแสดงธรรมหรือสื่อธรรมต้องประกอบด้วยมารยาทหรือจรรยาบรรณแห่ง
พระธรรมกถึก 5 ประการ ( อังคุตรนิกาย ปัญจกินิบาติ 22/159/205 ) ได้แก่
1. สื่อธรรมไปตามลำดับขั้นตอน คือ แสดงหลักการหรือเนื้อหาไปตามลำดับความยากง่าย มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ
2. จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจ้งยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ล่ะประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่าง ๆ จนเข้าใจตามได้
3. ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตามุ่งให้เป็นประโยชน์แก่เขา
4. ไม่เห็นแก่อามิสผลตอบแทน คือ สอนโดยมิได้หวังลาภสักการะ สินจ้างรางวัล หรือผลประโยชน์ตอบแทน
5. ไม่ยกตนข่มผู้อื่น สอนตามหลักการ ตามเนื้อหา มุ่งแสดงข้อเท็จจริง
การสื่อธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
การสื่อสารของพระพุทธเจ้าในพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ เล่มที่ 4 สามารถจำแนกออกตามประเภทของการสื่อสารต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. สื่อสารภายในตนเอง ( Intrapersonal Communication ) เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ( ตามลำดับและย้อนลำดับ ) เสร็จแล้วทรงประทานอุทานในยามทั้ง 3 แห่งราตรี ข้อความตอนนี้แสดงว่า พระองค์ประทับนั่งลำพังพระองค์เดียว ทรงสื่อสารกับพระองค์เองโดยพิจารณาธรรมที่ได้บรรลุแล้วรำพึงกับตัวเองถือได้ว่าเป็นการสื่อสารภายในตน เพราะไม่มีบุคคลอื่นรับฟังอยู่แถวนั้น การสื่อสารภายในตนนี้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าอีกหลายครั้งต่อมา โดยเฉพาะในช่วงประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ร่มไม้ชนิดต่าง ๆ หลายสัปดาห์ เมื่อทรงย้อนพิจารณาย้อนหลังถึงธรรมที่ได้บรรลุก็ทรงเปล่งอุทานโดยลำพัง การสื่อสารภายในตนครั้งสำคัญได้แก่ ตอนที่ทรงพิจารณาว่า ธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจได้ทรงท้อพระทัย และดำริว่าจะไม่ทรงแสดงให้ใครฟัง ตอนนี้พระไตรปิฎกบอกว่าสหัมบดีพรหมทราบพระดำริของพระพุทธเจ้า จึงได้ลงมาทูลเชิญให้ทรงแสดงธรรมเพราะสัตว์ที่มีกิเลสน้อยพอจะโปรดก็ยังมีอยู่ ตรงนี้ ถ้าหากเข้าใจว่า สหัมบดีพรหมเป็นพระพรหมมาจากพรหมโลก ปรากฏตัวตนมาเฝ้าพระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็แสดงว่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลไป เพราะมีการสื่อสารโต้ตอบกัน แต่ถ้าหากจะตีความว่า สหัมบดีพรหมไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นพรหมวิหารธรรม คือความเมตตากรุณาที่เกิดขึ้นภายในพระทัยของพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการสื่อสารภายในตน เพราะพระองค์ไม่ได้พูดจาสื่อสารกับใคร แต่พูดจากภายในของพระองค์เอง
2. การสื่อสารระหว่างบุคคล ( Interpersonal Communication ) มี 3 ประเภท คือ
ก. แบบตัวต่อตัว ( Face to face ) เกิดขึ้นเมื่อทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มักตวาดที่โคนต้นอชปาลนิโครธ โดยพราหมณ์ผู้นี้อ้างว่าตนเป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด แต่พระองค์ทรงแย้งว่า ผู้ที่จะนับว่าเป็นพราหมณ์ได้นั้น ต้องลอยบาป ไม่มักตวาดคน ไม่มีกิเลส สำรวมตน รู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ไม่มีความลำพอง
ทั้ง 2 ครั้งนี้ มีผู้สื่อสารคือ ทั้งพระพุทธเจ้าและผู้ที่พระองค์สนทนาด้วย ต่างก็ผลัดกันเป็นผู้ส่งสาร มีสารคือ คำพูดโต้ตอบกัน และมีผู้รับสารก็คือทั้ง 2 ฝ่าย จึงเชื่อว่าเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลแบบตัวต่อตัว นอกจากเหตุการณ์ตอนนี้แล้ว ในพระวินัยปิฎกเล่มที่ 4 นี้ยังกล่าวถึงการสื่อสารแบบตัวต่อตัว ระหว่างพระพุทธเจ้ากับบุคคลที่สำคัญอื่น ๆ อีก 2 ครั้ง คือ ทรงโปรดยสกุลบุตรที่เบื่อหน่ายการครองเรือนจนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวช และทรงโปรดบิดาของยสกุลบุตรที่ออกตามหาลูกชายจนได้บรรลุธรรมและขดถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคนแรก พระสารีบุตรเองเมื่อครั้งยังเป็นปริพาชกก็ได้พบกับพระอัสสชิสองต่อสอง แล้วได้พูดคุยสื่อสารกันจนได้ดวงตาเห็นธรรม และยังสามารถนำมาบอกต่อให้สหายสนิทคือพระโมคคัลานะได้ฟังแล้วบรรลุตามอีกด้วย
ข. แบบกลุ่มย่อย ( Small Group ) เป็นการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มเล็ก ๆ มีสมาชิกไม่มาก เช่น ตอนที่ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรซึ่งเป็นเทศนากัณฑ์แรกแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ซึ่งมีสมาชิกเพียง 5 ท่าน จนได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นภิกษุกลุ่มแรกในพระพุทธศาสนา ตอนที่ทรงโปรดสหาย 54 คนของพระยสะจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และตอนที่ทรงโปรดภัทรวัคคิยกุมาร 30 คนในระหว่างทางเสด็จไปอุรุเวลาเสนานิคม จนพวกเขาได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วบวช เหตุการณ์ที่ทรงโปรดคนกลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลแบบกลุ่มย่อย คือ มีจำนวนไม่เกินร้อย
ค. แบบกลุ่มใหญ่ ( Large Group ) เป็นการสื่อสารระหว่างกลุ่มขนาดใหญ่ มีสมาชิกเกินร้อย อาจถึงพันหรือหลายพัน โดยเป็นการสื่อสารกันในลักษณะเผชิญหน้าหรือมองเห็นกันได้ การสื่อสารชนิดนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง คือ ตอนที่เสด็จไปโปรดชฏิล 3 พี่น้องนำโดยอุรุเวลกัสสปะพร้อมกับบริวารจำนวนรวามกันได้ 1,000 คน แล้วทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร ทำให้บรรลุอรหัตตผลทั้งหมด และอีกครั้งหนึ่งก็ตอนที่พระโมคคัลลาน์สารีบุตรพาบริวารของตน 250 คนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอบวช
3. การสื่อสารมวลชน ( Mass Communication ) เกิดขึ้นตอนที่เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารที่เป็นพราหมณ์พ่อค้าคหบดี จำนวน 12 นหุต ( ประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน นหุตหนึ่ง = หนึ่งหมื่นคน ) ในชั้นแรก พระองค์ทรงให้พระอุรุเวลกัสสปะที่เพิ่งบวชได้ประกาศเหตุผลที่ตนละลัทธิเดิมมาบวช เพื่อให้มวลชนในที่นั้นได้คลายทิฏฐิมานะก่อน เพราะพวกเขาล้วนเคยเลื่อมใสและนับถือชฏิล 3 พี่น้องเหล่านี้มาก่อน การสื่อสารมวลชนครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามอย่างยิ่ง เพราะทุกคนล้วนได้ดวงตาเห็นธรรม
การสื่อสารมวลชนอีกครั้งหนึ่งแม้จะไม่ปรากฏในพรวินัยปิฎกเล่มนี้ แต่ก็นับว่าเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน เพราะอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ภาคที่ 6 ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศน์โปรดพุทธมารดา 3 เดือน วันนั้น เรียกกันว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ให้โลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก และสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิต่าง ๆ มีนรกเป็นต้น ได้ชื่นชมพระบารมีและได้เห็นกันโดยทั่ว ถือเป็นการสื่อสารมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพุทธกาล

บทที่ 5 พุทธวิธีในการสื่อธรรม
การสื่อธรรมของพระพุทธเจ้าถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เพราะทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นระดับศีลธรรมสำหรับดำเนินชีวิตจนถึงระดับเป็นอริยบุคคลได้ อย่างน้อยมีพระคุณอยู่ 2 บทที่กล่าวยืนยันถึงประสิทธิผลในการสื่อธรรมของพระองค์คือ อนุตฺตโร ปริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถีผู้ฝึกคนที่ไม่มีผู้เทียมเท่า และบทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือนหลังจากที่พระองค์เริ่มประกาศพระศาสนา ทรงทำให้คนกลายเป็นพระอริยบุคคลได้ถึง 1,250 องค์และตลอดพระชนมชีพของพระองค์ก็ได้ทำให้พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นคงในชมพูทวีป ต่อมาได้แผ่ขยายไปทั่วโลกจนกลายเป็นศาสนาที่สำคัญของโลกไปด้วย ดังนั้นการศึกษาถึงวิธีการสื่อธรรมของพระองค์จึงจำเป็นที่เหล่าสาวกจะได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ลีลาการสื่อธรรม
เมื่อมองกว้าง ๆ การสื่อธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้งจะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ เพราะทรงใช้ลีลาในการสื่อธรรม เรียกสั้น ๆ ลีลา 4 ส. ดังนี้
1. สันทัสนา การอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูจนเห็นกับตาทั้ง 2 ข้าง
2. สมาทปนา ชักจูงให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนเกิดการยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติตามในที่สุด
3. สุมตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขันมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นต่อความเหนื่อยยาก
4. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อและเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการปฏิบัติตาม
ลีลา 4 ส. ดังกล่าวนี้ ถ้าผูกเป็นคำคล้องจองกันสั้น ๆ ได้ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง
วิธีการสอน
พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีการสื่อธรรมลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามสถานการณ์หรืออุปนิสัยใจคอของผู้รับฟัง แต่ที่พบบ่อยในพระไตรปิฏก พอประมวลได้ดังนี้
1. แบบวางเป็นกฎหรือข้อบังคับ วิธีนี้จะทรงใช้ดาษดื่นในพระวินัยปิฎก เพราะเมื่อปรากฏว่ามีพระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น จนเกิดเสียงโจษขานเล่าลือหรือติเตียนต่าง ๆ นานา เมื่อทรงทรงทราบก็จะเรียกประชุมสงฆ์ สอบถามผู้ทำผิด ถ้าเจ้าตัวยอมรับว่าจริงแล้ว ก็จะทรงตำหนิ ชี้แจ้งผลเสียของการประพฤติเช่นนั้น แล้วทรงแสดงธรรมที่เหมาะสมกับเรื่องนั้น จากนั้นทรงบัญญัติเป็นข้อบังคับหรือสิกขาบท เพื่อให้ถือปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด
2. แบบสนทนาหรือธรรมสากัจฉา วิธีนี้ทรงใช้บ่อยทั้งในพระวินัยปิฎกและในพระสุตตันตปิฎก เมื่อมีผู้มาเฝ้า เขายังไม่เลื่อมในศรัทธาในพระองค์ ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหลักธรรม พระองค์ก็จะเป็นฝ่ายชวนคุยชวนสนทนาเพื่อนำหลักธรรมในที่สุดจนเขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
3. แบบบรรยาย เป็นวิธีที่ทรงใช้ในที่ชุมนุมคนหมู่ใหญ่ หรือในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีทั้งประชาชนและพระสงฆ์จำนวนมากมาฟัง เพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมและหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าคนที่มาฟังอยู่ในระดับใกล้เคียงกันจึงใช้วิธีบรรยายแบบกว้าง ๆ ได้ ทุกคนที่ฟังจะรู้สึกว่าพระพุทธองค์กำลังตรัสอยู่กับตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นความสามารถน่าอัศจรรย์ของพระองค์อีกอย่างหนึ่ง
4. แบบตอบปัญหา ผู้ที่มาทูลถามปัญหากับพระองค์นั้น นอกจากผู้ที่ถามด้วยความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่าง ๆ แล้ว ยังมีพวกที่นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการความรู้ บ้างก็ถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็ถามเพื่อเอาชนะหรือต้อนให้จนมุม ให้ได้รับความอับอาย ในการตอบปัญหานอกจากจะทรงรู้วิธีตอบที่เหมาะสมแล้ว ยังทรงรู้ลึกถึงจิตใจของผู้ถามด้วยว่า เขาถามด้วยประสงค์อย่างใด จึงทรงสามารถตอบได้อย่างตรงจุดและเหมาะแก่สถานการณ์
รูปแบบของการตอบปัญหาที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาและตอบให้เหมาะสมนั้นมี 4 รูปแบบ คือ
1. ปัญหาที่พึงตอบอย่างตรงไปตรงมา
2. ปัญหาที่ต้องย้อนถามก่อนแล้วจึงตอบ
3. ปัญหาที่ต้องตอบแบบแยกแยะหรือตอบแบบมีเงื่อนไข
4. ปัญหาที่ควรงดตอบหรือยับยั้งเสีย เพราะตอบไปก็ไม่มีประโยชน์
กุสโลบายในการสื่อธรรม
ในการสื่อธรรมแต่ละครั้งกับคนแต่ละคน แต่ละสถานที่ ย่อมไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวขึ้นอยู่กับสถานการณ์และตัวบุคคลผู้รับสารด้วย พระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้กุสโลบายต่าง ๆ กัน เพื่อให้สารธรรมเข้าถึงจิตใจผู้รับสารได้มากที่สุด ในที่นี้จะได้ประมวลกรณีตัวอย่างการใช้กุสโลบายในการสื่อธรรมของพระองค์มาพอเป็นแนวทางดังต่อไปนี้
1. ทรงยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยนั้น ๆ ประกอบคำอธิบาย โดยเฉพาะสถานการณ์ของบ้านเมืองหรือข่าวสารสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของพรองค์ แล้วทรงชักเข้าสู่ประเด็นของธรรมะ ชี้แจ้งให้เห็นคุณของกุศลกรรมและโทษของอกุศลกรรม นอกจากนี้ยังทรงเล่านิทานสอดแทรกด้วยทำให้เข้าใจได้ง่าย และทำให้อรรถรสของการสื่อดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเรื่องนี้มีมากเป็นพิเศษในคัมภีร์ชาดกซึ่งมีนิทานตัวอย่างมากกว่า 500 เรื่อง
2. ทรงยกอุปมาเปรียบเทียบ ทรงใช้วิธีนี้มากที่สุดกว่าวิธีอื่นใด เช่น ทรงเปรียบบัณฑิตเหมือนกับภูเขาหินล้วนว่า ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น เปรียบคนเรียนน้อยกับโคถึกว่า คนผู้เรียนรู้น้อย ย่อมแก่ลงเหมือนโคถึก เนื้อของเขาเจริญขึ้น แต่ปัญญาหาเจริญไม่ เป็นต้น จะเห็นว่า คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่เข้าใจยากโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมเด่นชัด เข้าใจง่ายขึ้น และหนักแน่นขึ้น
3. ทรงใช้อุปกรณ์ประกอบ เนื่องจากในสมัยพุทธกาลยังไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือประกอบในการสื่อธรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบันเป็น แต่อาศัยวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ประกอบ เช่น ทรงกำใบประดู่ลายขึ้นมากำมือหนึ่งขณะประทับนั่งกับภิกษุทั้งหลาย แล้วว่าสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานั้นมีเยอะเท่ากับใบไม้ในป่า แต่ธรรมะที่พระองค์นำมาแสดงแก่เวไนยสัตว์นั้น มีเล็กน้อยเท่ากับใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์ หรือเมื่อคราวที่แสดงแก่เวไนยสัตว์นั้นมีเล็กน้อยเท่ากับใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์ หรือเมื่อคราวที่นางสิริมาผู้เลอโฉมตายลง พระองค์ก็ทรงใช้ศพของนางเป็นอุปกรณ์ประกอบในการอธิบายถึงความไม่เที่ยง ไม่สวยงามของสังขาร ให้ผู้ที่เคยหลงใหลในรูปร่างของนางได้คลายความหลงใหลเสียได้
4. ทรงประพฤติเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของพระองค์คือ การทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดมาก แต่สื่อกันด้วยพระจิรยาวัตรที่ทรงบำเพ็ญเป็นประจำอยู่แล้ว ทำนองเป็นการสาธิตให้ดู เช่น คราวหนึ่งพระองค์เสด็จไปกับพระอานนท์ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปหนึ่งอาพาธหนักนอนจมอุจจาระปัสสาวะของตน ไม่มีผู้ใดพยาบาลดูแล จึงเสด็จเข้าไปทำความสะอาดกับพระอานนท์ จนเรียบร้อย เสร็จแล้วทรงประชุมสงฆ์แล้วตรัสเตือนว่า ผู้ที่เข้ามาบวชถือว่าไม่มีมารดาบิดา ไม่มีผู้ใดมาคอยพยาบาลให้ ต้องช่วยกันดูแลพยาบาลกันเอง ถ้าหากผู้ใดต้องการอุปัฏฐากบำรุงพระตถาคตเจ้า ผู้นั้นจงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด
5. ทรงใช้พระปรีชาสามารถด้านภาษาศาสตร์ คือ ทรงเล่นภาษา เล่นคำและใช้คำในความหมายใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถด้านภาษาผสมกับปฏิภาณไหวพริบ เช่น เมื่อมีผู้มาถามเป็นคำร้อยกรอง พระองค์ทรงตอบเป็นร้อยกรองเช่นกัน เป็นทำนองโต้กลอนสดกัน บางทีเขาต่อว่าโดยการใช้คำที่มีความหมายไม่ดี พระองค์ก็ทรงตอบไปโดยใช้คำนั้นนั่นเอง แต่ใส่ความหมายใหม่เข้าไปซึ่งสื่อความหมายในแง่ดีงาม คำบางคำเป็นศัพท์ที่ใช้กันในลัทธิศาสนาอื่น แต่ทรงกำหนดความหมายใหม่และทรงชี้แจ้งว่าอย่างไหนผิดอย่างไร เช่น คำว่า พรหม พราหมณ์ อิรยะ ยัญ ตบะ ฯลฯ ทรงนำมาใช้ใหม่ในความหมายของพระพุทธศาสนา
6. ทรงเลือกบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมาย ก่อนจะสื่อธรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกครั้งพระพุทธเจ้าจะทรงพิจารณาก่อนเสมอว่า จะโปรดใครก่อน จึงจะได้ผล มักจะทรงเริ่มต้นที่บุคคลผู้เป็นประมุขหรือผู้นำของกลุ่มนั้น เพราะถ้าสามารถทำให้ผู้นำเลื่อมใสได้ ลูกน้องที่เหลือก็พลอยยอมรับไปด้วย ในการบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน เวลาเวลาเช้ามืดก็จะส่งพระญาณไปพิจารณาหาบุคคลที่ควรจะโปรด หรือที่ควรจะเอาใจใส่เป็นพิเศษการทำเช่นนี้ทำให้ได้ผลดีกว่าการสื่อธรรมแบบปูพรหม พูดสาดรวมๆไป
7. ทรงคอยจังหวะและโอกาส เมื่อยังไม่ถึงโอกาส เช่น ผู้ฟังยังไม่พร้อม ญาณหรืออินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ทรงอดทน ไม่ดันทุรัง ไม่ดึงดันทำ แต่ทรงรอคอยหาโอกาสที่เหมาะอยู่เสมอ และเมื่อโอกาสมาถึงก็มีความฉับไวที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเสียเปล่า เช่น ในระยะแรกที่ประกาศพระศาสนา เมื่อถึงวันมาฆปุรณมีพระสงฆ์สาวกมาชุมนุมพร้อมกันที่พระเวฬุวัน ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์สำหรับเป็นหลักยึดถือร่วมกันของสงฆ์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนกิจในท้องถิ่นต่าง ๆ
8. ทรงใช้ความหลากหลายในการสื่อ คือ ทรงมีความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการโดยมุ่งผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดที่จะสื่อได้ดีที่สุดก็ทรงเลือกทางนั้น ดังพุทธพจน์ว่า เราย่อมฝึกคนด้วยวิธีละมุนละไมบ้าง ด้วยวิธีการรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีการทั้งละมุนละไมและทั้งรุนแรงปนกันไปบ้าง คนบางคนพระองค์อาจจะต้องยอมเสียก่อนเพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีเกียรติหรือเก่ง แล้วค่อยชี้แจ้งเพื่อดึงเขาสู่เป้าหมายทีหลัง เช่น คราวที่เวรัญชพราหมณ์ด่าว่าพระองค์ พระองค์ ก็ทรงรับตามที่เขาด่าจนเขาสมใจแล้วค่อยชี้แจ้งแก้ไขเสียใหม่ จนพราหมณ์เกิดเลื่อมใสในพระองค์ภายหลัง บางครั้งพระองค์ก็ทรงใช้วิธีรุนแรงคือขับไล่เสีย เพื่อให้ผู้มีอุปนิสัยหยาบได้สำนึก เช่น คราวหนึ่งพระสงฆ์จำนวน 500 รูปเดินทางมาเพื่อจะเข้าเฝ้าพระองค์ พอเก็บบาตรจีวรแล้วก็คุยกันส่งเสียงดัง พระองค์ทรงได้ยินจึงรับสั่งให้พระอานนท์เรียกภิกษุเหล่านั้นเข้ามา แล้วตรัสไล่ออกเสียจากที่นั้น ภิกษุเหล่านั้นจำต้องเดินทางหลีกไปเสียไกล และเกิดความรู้สึกเสียใจสำนึกผิด แล้วตั้งใจปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล
9. ทรงมีพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การสื่อธรรมของพระพุทธองค์นั้นต้องประสบกับปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะแขกที่ไม่ได้รับเชิญหรือผู้ที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะโปรดล่วงหน้ามาก่อนเข้าเฝ้าอย่างเร่งด่วน แต่ก็ทรงสามารถแก้ไขได้ด้วยอาศัยปฏิภาณไหวพริบ ทรงประยุกต์หลักการวิธีการต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างเหมาะสม เป็นการเฉพาะกิจ เฉพาะคราวไป เช่น คราวหนึ่ง ขณะเสด็จบิณฑบาตอยู่นักบวชนักศาสนาชื่อพาหิยทารุจิริยะวิ่งกระหืดกระหอบเข้าเฝ้ากลางถนน แล้วขอร้องให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทรงปฏิเสธไปหลายครั้ง แต่เมื่อเขารบเร้าบ่อย ๆ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟังโดยสังเขป ซึ่งทำให้พาหิยะได้บรรลุพระอรหัตผลได้กลางถนนนั่นเอง อีกคราวหนึ่งพราหมณ์คนหนึ่งโกรธที่พี่น้องในตระกูลของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า จึงรับเข้าไปด่าวาพระองค์ด้วยคำหยาบคายต่าง ๆ นานา พระองค์ทรงปล่อยให้เขาด่าจนหนำใจ ไม่มีคำที่จะด่าต่อไปอีก จึงตรัสถามว่า ขอถามหน่อยเถิด ท่านมีญาติมิตรหรือแขกมาหาบ้างหรือเปล่า พราหมณ์ตอบว่า มีมาเป็นครั้งคราว พระองค์ตรัสถามต่อว่า แล้วท่านจัดอาหารเครื่องดื่มไปต้อนรับเขาบ้างหรือไม่ พราหมณ์ทูลว่าก็จัดให้บ้าง ทรงถามต่อว่า ถ้าเขาไม่รับสิ่งของเหล่านั้น มันจะตกเป็นของใคร พราหมณ์ทูลว่าก็ต้องตกเป็นของข้าพเจ้าตามเดิม พระองค์จึงตรัสสอนว่า ในเรื่องที่ท่านมาด่าเราก็เหมือนกัน เราไม่ขอรับคำด่าเหล่านี้ ขอให้มันเป็นของท่านตามเดิมเถิด จากนั้นจึงได้ตรัสสอนพราหมณ์ต่อไปจนเขาเลื่อมใสยอมเป็นสาวก
เคล็ดลับการสื่อธรรมของพระพุทธเจ้า
1. ทรงมีบุคลิกภาพที่งามสง่า เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม คือ แจ่มใส ชัดเจน นุ่มนวล ชวนฟัง กลมกล่อม ไม่แหบพร่า ซึ้ง และกังวาน
2. ทรงมีพระเมตตากรุณา มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับคำสอนเป็นที่ตั้ง ไม่หวังผล ตอบแทนใด ๆ
3. เรื่องที่ทรงสื่อล้วนมีประโยชน์และจำเป็นต่อชีวิตของผู้ฟัง
4. ทรงรู้เข้าใจในธรรมที่สื่ออย่างถ่องแท้ และทรงทำได้จริงอย่างที่ตรัส เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม
5. ทรงมีหลักการและวิธีสื่อธรรมหลากหลายเหมาะแก่บุคคลแต่ละระดับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 กันยายน 2553 เวลา 23:25

    ตัวหนังสือควรเป็นสีดำคับ ดีมากที่มีแบบนี้ได้รับความรู้เพิ่มคับ

    ตอบลบ