๑۩۞۩๑ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล๊อกของผมครับ ๑۩۞۩๑

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา
ล้านนาเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่มาแต่โบราณกาล จากหลักฐานข้อมูลในตำนานล้านนาพบว่า มีการรวมตัวของชนเผ่าไทยวน เมื่อปีกัดไก๊ (ปีกุน) ตรงกับพ.ศ.๑๑๘๑ ที่บริเวณเมืองเชียงลาว-เชียงแสน โดยมีลวจังกราชเป็นผู้นำคนแรก และสืบเชื่อสายต่อๆกันมา จนถึงสมัยพญาเม็งราย กษัตริย์ลำดับที่ ๒๕ แห่งราชวงศ์ลาว ( พ.ศ.๑๘๐๕-๑๘๕๔ ) จากนั้นชนเผ่าไทยวน ก็ได้ขยายอาณาเขตลงมายังเมืองลำพูน ตามมาด้วยการสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ราชวงศ์เม็งรายก็ได้ปกครองเชียงใหม่มาโดยตลอดเป็นระยะเวลา ๒๐๐ ปีเศษ ในช่วงนี้เชียงใหม่มีความเจริญแทบทุกด้านและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา จนถึง พ.ศ.๒๑๐๑ เมื่ออาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวายระส่ำระสาย จนกระทั้ง พ.ศ.๒๓๑๗ พระเจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี โดยความร่วมมือของพญากาวิละและพญาจ่าบ้าน แห่งเชียงใหม่ สามารถขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาได้ทำให้มีการฟื้นฟูบูรณะเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ความสงบสุขและความเป็นปึกแผ่นกลับมาสู่ดินแดนล้านาดั้งเดิม โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นโดยสายเลือด กลายเป็นเมืองสำคัญของล้านนามีผู้ปกครองนครปกตรองสืบทอดกันเรื่อยมา ในฐานะเป็นเมืองประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั้งมีการรวมอาณาจักรล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทยในปี พ.ศ.๒๔๗๖
ประวัติพระพุทธศาสนาในล้านนา
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า อาณาจักรล้านาเป็นอาณาจักรที่อุดมรุ่งเรืองไปด้วยธารน้ำและทิวเขาสูง มีแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นแหล่งในการทำการเกษตรกรรม จึงมีชนพื้นเมืองอยู่มากมาย ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในล้านนานั้นก็มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของทหารอาณาจักรในแต่ละยุคสมัย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจ จะได้ลำดับความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในล้านนา ดังต่อไปนี้
พระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในรัชสมัยของพระจามเทวี พระราชธิดาของกษัตริย์มอญในอาณาจักรทวาราวดี เมืองลวปุระ (ลพบุรีในปัจจุบัน) ได้เสด็จมาครองราชย์สมบัตินครหริภุญชัย (ลำพูนปัจจุบัน) ตามคำเชื้อเชิญของวาสุเทพฤาษี ที่ออกบวชเป็นฤาษีแล้วได้จัดสถานที่ในการสร้างเมืองขึ้นมา ขณะที่พระนางเสด็จมาได้ทรงนำพาอารยธรรมแบบทวารวดีขึ้นมาด้วย ในจำนวนนั้นมีการนำพาพระพุทธศาสนามีทั้งพระพุทธศาสนาแบบมหายานและแบบเถรวาท โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบหีนยานหรือเถรวาทได้นำพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกจำนวน ๕๐๐ รูปมาด้วย พระนางจามเทวีได้สร้างวัดไว้ ๔ มุมเมือง ทำให้เมืองนี้เป็นจตุรปราการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงประดิษฐานรุ่งเรือง ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา
พระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์เม็งราย พญาเม็งรายนั้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย (ครองราชย์ พ.ศ.๑๓๓๙-๑๘๕๔) พระพุทธศาสนาในสมัยนั้นเป็นแบบเถรวาทที่รับมาจากมอญศิลปกรรมและปฏิมากรรมทางพระพุทธศาสนาได้รับอิทธิพลแบบทวารวดี มีการสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า สมัยเมืองเชียงแสน
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพญาติโลกราช หรือพระเจ้าติโลกราช พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๙ ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐ ทรงเป็นโอรสพญาสามฝั่งแกน ในสมัยของพระองค์ถือว่าเป็นยุคทองของล้านนา เพราะบ้านเมืองมีความเจริญสูงสุดทุกด้าน โดยเฉพาะด้านศาสนาทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๘ ของโลก ที่วัดเจ็ดยอด (มหาโพธาราม) เมื่อพ.ศ.๒๐๒๐ รวมเวลาในการทำสังคายนา ๑ ปี โดยมีพระธรรมทินนิเถระเป็นประธานนับตั้งแต่นั้นมา การศึกษาของพระสงฆ์ในล้านนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าทางอยุธยา ได้มีพระเถระหลายรูปที่มีความรู้และแตกฉานในพระไตรปิฎกได้รจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งเป็นแบบภาษาบาลีและภาษาล้านนาก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่พระพุทธศาสนาในล้านนาและประเทศไทยสืบต่อกันมา
ประวัติและผลงานพระเถระในล้านา
พระเถระที่เป็นนักปราชญ์ในล้านนา มีหลายรูปด้วยกัน มีความรู้ความสามารถในการแตกฉานและมีความรู้ความเช้าใจในพระไตรปิฎกและได้รจนาคัมภีร์เอกสารทางพระพุทธศาสนามากมาย พอสรุปได้ดังนี้

1. พระโพธิรังสีเถระ
ในบรรดานักปราชญ์ชาวล้านนาที่เป็นพระเถระนั้น พระโพธิรังสีเถระเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุด เป็นชาวเชียงใหม่ ผลงานของท่านปรากฏอยู่คู่กับวรรณคดีล้านนาเล่มอื่นๆ ที่มีผู้คนอ้างอิงและศึกษาทั้งทางศาสนาและประวัติศาสตร์ คือ จามเทวีวงศ์ และ สิหิงคนิทาน
จามเทวีวงศ์ จัดเป็นหนังสือพงศาวดาร รจนาเป็นภาษาบาลี มี 15 ปริเฉท ปรากฏตอนท้ายทุกปริเฉทว่า อันมหาเถรมีนามว่า โพธิรังสี ได้แต่งตามคำมหาจารึก สันนิษฐานว่ารจนาราว พ.ศ. 1950-2060 กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เปรียญ ร่วมกับ พระญาณวิจิตร (สิทธิ โลจนานนท์) เปรียญ ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2463
เนื้อเรื่องในจามเทวีวงศ์ ว่าด้วยวงศ์ของพระนางจามเมวีที่ได้ครองเมืองหริภุญชัยและประวัติพระศาสนาในล้านนา กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย ลำปางและการสร้างวัดบรรจุพระธาตุคือ พระบรมธาตุหริภุญชัยในสมัยราชวงศ์ของพระนางจามเทวี กล่าวถึงธรรมะของกษัตริย์และความที่ไม่สมควร อันเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อนล่มจม นับว่าพระโพธิรังสีเถระสามารถนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาสัมพันธ์กับเรื่องราวทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าหนังสือ จามเทวีวงศ์ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523: 103 และประคอง นิมมานเหมินท์, 2517: 42)
สิหิงคนิทาน หรือประวัติพระพุทธสิหิงค์ แม้มิได้ระบุปีที่รจนา แต่สันนิษฐานว่าเป็นระหว่างปี พ.ศ. 1985-2068 เพราะเป็นระยะที่วรรณกรรมบาลีกำลังเฟื่องฟู เนื้อเรื่องใน สิหิงคนิทาน ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งหล่อในประเทศลังกาด้วย เงิน ตะกั่ว และทองเหลือง ประวัติการเดินทางมาสู่ประเทศไทยและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเชียงใหม่ ปัจจุบันได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยกลางและพิมพ์เผยแพร่แล้ว (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523: 104)

2. พระญาณกิตติเถระ
พระญาณกิตติเถระ เป็นชาวเชียงใหม่ มีอาวุโสกว่าพระสิริมังคลาจารย์ จำพรรษาอยู่วัดปนสาราม (สวนต้นขนุน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครเชียงใหม่ จากผลงานของท่านที่รจนาไว้ ทำให้ทราบว่าท่านเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าติโลกราชเชื่อว่าท่านเคยไปศึกษาที่ประเทศลังกา ในรัชกาลกษัตริย์กรุงลังกาปรักกรมพาหุที่ 6 และพระเจ้าภูวเนกพาหุที่ 6 (พ.ศ. 1955-2024) ครั้งนั้นศาสนสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่ อยุธยา ลังกา และพม่า ดำเนินไปด้วยดี พระสงฆ์ล้านนาเดินทางไปประเทศเหล่านี้ได้อย่างเสรี (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 10) ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชและพระเจ้ายอดเชียงราย งานที่ท่านรจนาขึ้นหลังจากสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 พ.ศ. 2020 ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น (ประคอง นิมมานเหมินท์, 2517 : 31)
ผลงานของพระญาณกิตติเถระรจนาคัมภีร์อธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย และพระอภิธรรมและบาลีไวยากรณ์ อันมีชื่อตามลำดับนี้

พระวินัย
1. สมันตปาสาทิกา อัตถโยชนา อธิบายศัพท์ คำ ข้อความยากในอรรถกถาวินัยปิฎกชื่อ สมันตปาสาทิกา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบัญญัติ ข้อแนะนำตักเตือนและบทลงโทษ สำหรับพระภิกษุผู้ผิดวินัย เป็นต้น
2. ภิกขุปาฎิโมกขคัณฐีทีปนี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระปาฏิโมกข์ หรือศีลของพระภิกษุโดยเฉพาะ เช่น สงฆ์ควรปฏิบัติอย่างไรก่อนพิธีสวดปาฎิโมกข์ และอธิบายขยายความในประปาฏิโมกข์ รจนาเมื่อ พ.ศ. 2035
3. สีมาสังกรวินิจฉัย วินัยปิฎกกล่าวถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ คือ สีมา ซึ่งคู่กับพระอุโบสถ หรือโบสถ์เป็นที่ทำสังฆกรรม กิจกรรมที่ต้องทำโดยความสามัคคีเป็นเอกฉันท์ มีเสียงคัดค้านเพียงเสียงเดียว สังฆกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ

พระอภิธรรม
4. อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอัฏฐสาลินี อรรถกถาอภิธรรมธัมมสังคณีโดยพระพุทธโฆสาจารย์
5. สัมโมหวิโนทนี อัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอรรถกถาอภิธรรมวิภังค์ โดยพระพุทธโฆสาจารย์
6. ปัญจกรณัฏฐกถา อัตถโยชนา และเชื่อว่าท่านญาณกิตติเถระคงรจนาคู่มืออธิบายอภิธรรมที่เหลืออีก 5 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลปัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน รวมเรียกว่า ปัญจปกรณัฏฐกถา ที่ท่านพุทธโฆสาจารย์รจนาไว้
ท่านพุทธทัตต์เถระชาวลังกาได้กล่าวว่า คัมภีร์เหล่านี้และคัมภีร์อื่นๆ อีกหลายคัมภีร์จารด้วยอักษรขอม ส่งจากประเทศไทยไปถวายเป็นบรรณาการแก่พระมหาเถรปุรัตคามธัมมลังสิริกาสุมนติสส แห่งปรมานันทวิหาร เมืองกอลเล ประเทศลังกาโดยผ่านราชทูตไทย
7. อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอภิธัมมัตถวิภาวินี ซึ่งรจนาโดยพระสุมังคล ชาวลังกา ท่านรจนาเรื่องนี้ที่วัดปนสาราม เมื่อ พ.ศ. 2045

ไวยากรณ์
8. มูลกัจจายนอัตถโยชนา คู่มืออธิบายบาลีไวยากรณ์สายกัจจนะ ซึ่งพระกัจจายนเถระ ภิกษุรุ่น
หลังท่านพุทธโฆสาจารย์ (พุทธศตวรรษที่ 11-12) รจนามูลกัจจายนวยากรณ (ลิขิต ลิขิตา นนท์, 2527 : 478-480)
วรรณกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ท่านญาณกิตติเถระได้รจนาระหว่างปี พ.ศ. 2028-2043 ท่านเป็นนักปราชญ์ล้านนาที่รจนาวรรณกรรมไว้มากกว่าผู้อื่น (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523: 106)

3. พระสิริมังคลาจารย์
เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ไม่อาจทราบแน่ชัดว่า พระสิริมังคลาจารย์มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏเช่นเดียวกับพระเถระองค์อื่นๆ นอกจากสันนิษฐานจากผลงานของท่าน ท่านเป็นชาวเชียงใหม่มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 2020-2100 ประจำอยู่วัดสวนขวัญ (วัดตำหนักในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านเคยไปศึกษาที่ลังกา และเคยเป็นอาจารย์ของพระเมืองเกษเกล้า (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528: 116)
สิงฆะ วรรณสัย, (2523: 18) กล่าวว่าผลงานของพระสิริมังคลาจารย์คงเป็นช่วงที่ท่านจำพรรษาที่วัดตำหนังสวนขวัญ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ และคงใช้เวลาค้นคว้ารจนาคัมภีร์ต่างๆ จากหอธรรมที่ท่านรวบรวมไว้ เพราะว่าปรากฏว่าผลงานของท่านมีการอ้างอิง บอกถึงที่มาโดยละเอียด นับว่าท่านเป็นนักปราชญ์ที่มีผลงานอ้างอิงที่ก้าวหน้าเกินยุคสมัยของท่านมากอุดม รุ่งเรืองศรี และ สดุภณ จังกาจิตต์ ศึกษาผลงานของท่านและได้แบ่งผลงานของท่าน สรุปได้ ดังนี้
พระสิริมังคลาจารย์รจนาผลงานไว้ 4 เรื่องซึ่งอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
การอธิบายคัมภีร์ที่มีมาแต่เดิม ผลงานประเภทนี้มีด้วยกัน 3 เรื่อง ดังนี้
1. เวสสันตรทีปนี รจนาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2060 ในรัชกาลพระเมืองแก้ว อธิบายอรรถกถาเวสสันดรชาดก เกี่ยวกับความเบ็ดเตล็ดเกร็ดเล็กน้อยต่างๆ ที่น่าสนใจ ตลอดจนวิธีแบ่งคาถาในเวสสันดรชาดกอีกด้วย คัมภีร์นี้มีความยาวบั้นต้น 40 ผูก บั้นปลาย 10 ผูก
2. สัขยาปกาสกฎีกา เป็นหนังสืออธิบายคัมภีร์สังขยาปกาสกะ ที่พระญาณวิลาสเถระชาวเชียงใหม่รจนาเมื่อ พ.ศ. 2059 เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น รจนาเมื่อ พ.ศ. 2063 จำนวน 2 ผูก
3. มังคลัตถทีปนี หรือ มงคลทีปนี เป็นวรรณกรรมเรื่องเอกที่มีชื่อเสียงยิ่งของพระสิริมังคลาจารย์ รจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2067 เพื่อเป็นการอธิบายความในมงคลสูตร ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก 2 แห่ง คือ ในขุททกปาฐะและสุตตนิบาต ซึ่งทั้งสองนี้อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา ซึ่งพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาไว้อันเป็นพระสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติที่เป็นมงคลรวม 38 ประการ เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต ฯลฯ ท่านได้อธิบายถึงความหมายของพระสูตรนี้โดยละเอียดด้วยภาษาบาลีอันไพเราะและสละสลวย และนำเรื่องจากคัมภีร์และชาดกอื่นๆ มาอธิบายประกอบมังคลัตถทีปนี นี้ได้แปลเป็นภาษาไทยความยาว 893 หน้า และพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งแล้ว เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนปริยัติธรรมจะต้องศึกษาส่วนคัมภีร์ที่รจนาขึ้นใหม่ มีเพียงเรื่องเดียว คือ

4. จักกวาฬทีปนี ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้ผูกโครงเรื่องขึ้นก่อน โดยแบ่งเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับจักรวาลออกเป็นตอนๆ จากนั้นก็อธิบายเรื่องราวตอนนั้นๆ อย่างละเอียดลออ โดยอ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ มาประกอบ รจนาเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2063 กล่าวถึงเรื่องราวในจักรวาลหรือโลกธาตุ พรรณนาถึงภูมิที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย อาหารของสัตว์ ภูเขา แม่น้ำ เทวดา อสูร ฯลฯ ดังนี้
-ภูเขา พรรณนาถึงเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์และเขาต่างๆ ในป่าหิมพานต์
-สระ พรรณนาถึงสระอโนดาต กัญญมุณฑก รถกรก ฉัททันต์ กุนาล ฯลฯ
-นที พรรณนาแม่น้ำต่างๆ เช่น คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ ฯลฯ
-ทวีป พรรณนาชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป บุพพวิเทห และอมรโคยาน เป็นต้น
-ภูมิของสัตว์ต่างๆ เช่น อบายภูมิ คือ นิรยะ ติรัจฉานโยนิ เปตวิสัย อสุรกาย และ มหานรก 8 ขุม เช่น สัญชีวะ กาลสุตตะ สังฆาตะ ปตาปนะ เป็นต้น
-อสูร พรรณนา เวปจิตต สัมพร อสุโรช ปหารท ราหุ เป็นต้น
-ภุมมเทวดา คือ เทวดาที่อยู่บนพื้นดินและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือทรงคุณประโยชน์ต่างๆ
-อากาศเทวดา กล่าวถึงเทพที่สถิตอยู่ในอากาศ แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชั้นจตุมหาราชิก
-มเหสักขเทวดา กล่าวถึง เทวดาที่สูงศักดิ์ต่างๆ ในฉกามาวจรเทวโล
-พรหม กล่าวถึง พรหมต่างๆ ในพรหมโลก
นอกจากนี้ยังได้พรรณนา หรือวินิจฉัยเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วย เรื่องอายุ อาหาร การคำนวณภูมิเรื่องต้นไม้ เรื่องโลก โลกธาตุ และเรื่องความไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนคำศัพท์ต่างๆ ก็ได้อธิบายไว้เช่น ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก วิบัติภวโลก ฯลฯ
เมื่อพิจารณาวิธีการรจนาคัมภีร์ทั้ง 4 เรื่องแล้ว จะเห็นว่าพระสิริมังคลาจารย์รจนาคัมภีร์แต่ละเรื่องขึ้นเพื่ออธิบายขยายความที่ยากหรือค่อนข้างยากให้คนทั่วไปเข้าใจรู้เรื่องอย่างแจ่มแจ้ง อันเป็นจุดประสงค์สำคัญของผลงานกลุ่มแรก ส่วนผลงานที่รจนาใหม่คือ การอธิยายเรื่องจักรวาลนั้น ก็เพื่อต้องการให้ชาวล้านนาที่สนใจและมิได้เป็นนักปราชญ์ที่ต้องการจะทราบเรื่องจักรวาลอย่างถ่องแท้ละเอียดพิสดาร ตามแนวของพุทธศาสนาได้สามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยไม่ต้องค้นคว้าหาอ่านมากมาย
นอกจากนี้ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ยังสะท้อนให้เห็นความสนใจและการใฝ่หาความรู้ด้านพุทธศาสนาและวิชาการแขนงต่างๆ ของชาวล้านนาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีมากเพียงใด ทั้งยังเป็นความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้นั้นๆ อย่างแตกฉานอีกด้วย (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528: 116-117 และ สดุภณ จังกาจิตต์, 2521: 142-155)

4. พระรัตนปัญญาเถระ หรือพระสิริรัตนปัญญาเถระ
พรเถระชาวเชียงรายรูปนี้ เป็นพระภิกษุรุ่นเดียวกันกับพระสิริมังคลาจารย์ เป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์มังราย อุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดป่าแก้ว เชียงราย ต่อมาได้มาศึกษาต่อที่เชียงใหม่ และพำนักอยู่วัดสีหลาราม หรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน มณี พะยอมยงค์ กล่าวว่าท่านเคยพำนักที่วัดฟ่อนสร้อย (เดินอยู่ใกล้ตลาดประตูเชียงใหม่) ก่อนจนได้เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นจึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นพระอารามหลวง

ผลงานของพระรัตนปัญญาเถระมีดังนี้
1. มาติกัตถสรูปอภิธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์อธิบายพระอภิธรรม ไม่ปรากฏปีที่รจนา
2. วชิรสารัตถสังคหะ รจนาเมื่อ พ.ศ. 2078 ที่วัดมหาวนาราม เชียงใหม่ เป็นเรื่องศัพท์ย่อๆ ซึ่งเมื่อขยายใจความออกมาแล้วจะทำให้รู้ความหมายได้แจ่มชัด หรืออาจเรียกว่าเป็นหัวใจของธรรมะต่างๆ
3. ชินกาลมาลี หือ ชินกาลมาลีปกรณ์ คัมภีร์นี้เริ่มรจนาเมื่อ พ.ศ. 2060 ในพรรษาที่ 23 ของพระรัตนปัญญา รัชสมัยพระเมืองแก้ว เนื้อเรื่องกล่าวถึงกาลของพระพุทธเจ้า โดยเรียบเรียงอย่างมีระเบียบ จึงได้ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาถึงกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้โดยพิสดาร ว่าด้วยพุทธกิจว่าทรงทำอะไร ประทับอยู่ที่ไหน จนกระทั่งดับขันธ์ปรินิพพาน กาทำสังคายนาครั้งต่างๆ การจำแนกพระบรมธาตุ การเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ให้เวลาและสถานที่อย่างชัดเจน บอกกำหนดปีโดยครบถ้วน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประวัติของบุคคลและสถานที่ของเมืองสำคัญ คือ เชียงแสน เชียงราย ลำพูน และเชียงใหม่ รจนาเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2071 มีความยาว 14 ผูก กับ 14 ลาน วรรณกรรมบาลีเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ล้านนาที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เป็นอย่างดี และเป็นที่เชื่อถือตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งผู้รจนาก็ได้แสดงความมุ่งหมายในการแต่งไว้อย่างละเอียด สมกับที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญ
ชินกาลมาลีปกรณ์ นับเป็นผลงานชิ้นเอกของนักปราชญ์ชาวล้านนา ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากมายหลายภาษา รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตถึง 5 ท่าน ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยกลาง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกเป็นครั้งแรกในงานพระศพของพระราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2451 ต่อมา เสฐียร พันธรังษี ได้แปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2474 ใช้ชื่อว่า ชินกาลมาลินี และในราว พ.ศ. 2500 แสง มนวิทูร ได้แปลเป็นภาษาไทยขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 มีเชิงอรรถ อธิบายความให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
การแปลเป็นภาษาต่างประเทศเริ่มด้วย ยอร์ช เซเดส์ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยตีพิมพ์คู่กับภาษาบาลี ลงในวารสารวิชาการของฝรั่งเศสติดต่อกัน 6 ฉบับ เมื่อ พ.ศ. 2468 สมาคมบาลีปกรณ์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้พิมพ์เป็นภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน ต่อมาก็ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ในประเทศลังกา พระภิกษุชื่อพุทธทัตก็ได้แปลเป็นภาษาสิงหล พิมพ์คู่กับภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. 2498 จึงนับได้ว่าเป็นวรรณคดีล้านนาที่ได้รับการแปลและพิมพ์เผยแพร่มากที่สุด ชินกาลมาลีปกรณ์ จึงเสมือนเป็นคู่มือที่นักศึกษาชาวต่างประเทศได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย มานานแล้ว (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528 : 118, ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 110 และประคอง นิมมานเหมินท์ 2517 : 46)

5. พระพุทธพุกาม และพระพุทธญานเจ้า
เราไม่ทราบประวัติของพระเถระทั้งสองท่านนี้ แต่ผลงานของท่านที่ปรากฏคือ มูลศาสนา ได้ระบุชื่อผู้รจนาไว้ในตอนท้ายของเรื่องนี้ ระยะเวลาที่รจนาก็ไม่ทราบแน่นอน เป็นหนังสือที่เก็บความรู้ ประวัติทางศาสนาจากที่มาหลายคัมภีร์ นำมารจนาไว้โดยละเอียด รวมทั้งแทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์ และความเป็นไปของประชาชนในแหลมสุวรรณภูมิสมัยโบราณด้วย นับเป็นหนังสือคู่กับ จามเทวีวงศ์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์ (ประคอง นิมมานเหมินท์, 2517: 52-56) หนังสือเล่มนี้รจนาเป็นภาษาล้านนา

6. พระสุวัณณรังสีเถระ
พระภิกษุชาวเชียงใหม่รูปนี้ ต่อมาได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดวิชยาราม นครเวียงจันทน์ประเทศลาว และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ท่านได้รจนาคัมภีร์ 2 เรื่อง คือ คันถาภรณฎีกา ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายคัมภีร์ชื่อ คันถาภรณะ ของชาวพม่า อันว่าด้วยหลักเกณฑ์ทางภาษาบาลี รจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2128 หลังจากนั้นท่านได้รจนาเรื่อง ปฐมสัมโพธิกถา ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2388 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง ปฐมสมโพธิกถา โดยถือเอาปฐมสัมโพธิกถาเป็นฉบับภาษาบาลีของพระสุวัณณรังสี เป็นหลักในการเรียบเรียง (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523: 116)

7. พระพรหมราชปัญญา
ท่านได้รจนาคัมภีร์ชื่อ รัตนพิมพวงศ์ อันเป็นตำนานในการสร้างพระแก้วมรกต

8. พระอุตตรารามเถระ
ได้รจนาคัมภีร์ชื่อ วิสุทธิมัคคทีปนี อันเป็นการอธิบายความในวิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆสาจารย์ แต่ต้นฉบับยังค้นหาไม่พบ (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528: 116)
รายนามของกวีล้านนาที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น เป็นยุคของวรรณกรรมบาลีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกทั้งสิ้น และเป็นช่วงที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนาคือรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช และพระเมืองแก้ว นับเป็นเวลาภายหลังที่ได้มีการกระทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดเจ็ดยอดเสร็จสิ้นลงเมื่อ พ.ศ. 2020 ทำให้มีนักปราชญ์ทางวรรณกรรมบาลีเกิดขึ้นมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าล้านนานั้นเป็นผู้นำในด้านวรรณกรรมบาลีของไทยมาจนปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์ไทยยังได้ใช้ตำราคัมภีร์อันเป็นผลงานของนักปราชญ์ดังกล่าวเป็นหนังสือเรียนในการสอบบาลีสนามหลวงของพระภิกษุมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงที่เชียงใหม่หรือล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านั้น นับว่าเป็นช่วงที่เสื่อมทางด้านการศึกษาหาความรู้และการรจนาคัมภีร์เพราะบ้านเมืองไม่สงบ จนกระทั่งเชียงใหม่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน จึงปรากฏผลงานของกวีล้านนาอีก ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นกวีที่ประจำราชสำนักเจ้าหลวงผู้ครองเมืองต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง เป็นต้น ส่วนมากเป็นวรรณกรรมที่เป็นไปเพื่อความบันเทิง และกวีก็มักเป็นฆราวาสที่เคยบวชเรียนมาก่อน เช่น พระยาพรหมโวหาร เป็นต้น

9. พระยาโลมาวิสัย
เป็นกวีในราชสำนักเจ้าหลวงลำปาง เดิมเป็นชาวจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ที่มีความเปรื่องปราดสามารถยิ่งผู้หนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะมีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 2330 ในสมัยที่เจ้าคำสม เจ้าดวงทิพย์ เจ้าหนานไชยวงศ์ เจ้านันทิยะ และเจ้าอินทร์ เป็นผู้ครองนครลำปาง ตามลำดับ พระยาโลมาวิสัยน่าจะรับราชการเป็นอาลักษณ์ในคุ้มหลวงลำปาง และต่อมาในสมัยเจ้าหลวงวรญาณรังสี ท่านก็คงยังรับราชการอยู่อีกหลายปี มณี พะยอมยงค์ สืบค้นทราบว่าผู้สืบเชื้อสายของพระยาโลมาวิสัย ปัจจุบันใช้นามสกุล “ไสยวงศ์” และได้อพยพจากลำปางมาตั้งรกรากที่บ้านท่าวังพร้าว ใกล้กับสะพานแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ พระยาโลมาวิสัยมีความสามารถทั้งการประพันธ์โคลงและค่าว ผลงานเท่าที่ทราบมีดังนี้
1. โคลงหงส์ผาคำ ประพันธ์ด้วยโคลงสี่สุภาพสลับกับโคลงสาม และโคลงสอง จำนวน 907 บท ประพันธ์ในปี พ.ศ. 2395
2. ค่าวซอหงส์ผาคำ เนื้อเรื่องเหมือนโคลงหงส์ผาคำ แต่ประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ค่าว ซึ่งเป็นฉันทลักษณ์ที่ได้รับความสนใจมากในระยะนั้น นับเป็นกวีล้านนาคนแรกที่ใช้คำประพันธ์ค่าวเขียนวรรณกรรมเรื่องยาวเพื่อความบันเทิง
3. ค่าวซอเรื่องเจ้าสุวัตร นางบัวคำ เมื่อเรื่องค่าวซอหงส์ผาคำประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากมหาชน จึงได้ประพันธ์ค่าวซอเรื่องเจ้าสุวัตร นางบัวคำ ในเวลาต่อมา (มณี พยอมยงค์, 2516: 90)

10. พระยาพรหมโวหาร
พระยาพรหมโวหารนับเป็นกวีที่เลิศในทางการประพันธ์ค่าว เป็นศิษย์พระยาโลมาวิสัย เป็นบุตรของแสนเมืองมา ผู้ดูแลคลังของเจ้าหลวงลำปาง พระยาพรหมเดิมชื่อ พรหมินทร์ เกิดเมื่อ 2345 ได้เล่าเรียนเบื้องต้นจากครูบาอุปนันทะ เจ้าอาวาสวัดสิงห์ชัย เมื่ออุปสมบทแล้วได้เดินทางมาศึกษากับครูบาปินตาเจ้าอาวาสวัดสุขเข้าหมิ้น
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี
สภาพแวดล้อม
พระสิริมังคลาจารย์ได้รจนามังคลัตถทีปนีเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๐๖๐-๒๐๖๗ ในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนขวัญ ท่านใช้เวลาในการค้นคว้ารจนาจากคัมภีร์ต่างๆ จากหอธรรมที่ท่านได้รวบรวมไว้ จะเห็นได้ว่า คัมภีร์ของท่านมีการอ้างอิงบอกถึงที่มาอย่างชัดเจน สภาพบรรยากาศในการรจนาคัมภีร์ท่านอยู่ที่วัดนี้เป็นสถานที่สงบสงัด ห่างจากตัวเมืองออกไปซึ่งเดิมที่ก่อนที่ท่านจะได้รจนาคัมภีร์ต่างๆ นั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด เป็นที่ผู้คนพลุกพล่านมีผู้คนมากมายจึงทำให้ไม่เหมาะสมกับการรจนาคัมภีร์ ท่านจึงย้ายไปสร้างวัดสวนขวัญอันเป็นสถานที่สงบ เพื่อจะได้รจนาคัมภีร์

แรงดลใจ
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่พระสิริมังคลาจารย์ได้รจนาขึ้น ซึ่งท่านนั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ท่านเกิดมาในท่ามกลางในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาในล้านนามีความเจริญรุ่งเรื่องขีดสุด มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวนมาก พระสิริมังคลาจารย์มีความเสื่อมใส่ในพระพุทธศาสนา และศึกษาพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน ประกอบกับท่านได้ศึกษาวิชาการในสำนักของพระพุทธวีระซึ่งเป็นนิกายสิงหลและอยู่ในต่างประเทศ เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยต้องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลักษณะของคัมภีร์ เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่ต้องการศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามากที่สุด ซึ่งก่อนที่ท่านจะรจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีฉบับนี้ ท่านรจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เช่น เวสสันตรทีปนี จักวาฬทีปนีและสังขยาปกาลกฏีกา เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงดลใจให้ท่านได้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีขึ้นซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ที่มีคุณค่าและก่อประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนานัปการ

คัมภีร์มูลฐาน
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้รจนาขึ้นมาได้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งหลายประการด้วยกัน พอสรุปได้ ๓ ประการ กล่าวคือ
๑. คัมภีร์มูลฐาน คือคัมภีร์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรจนามังคลัตถทีปนี เรียกอีกอย่างว่ามงคลทีปนี เป็นการอธิบายความในมงคลสูตร
๒. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์ มีอยู่ ๒ ส่วน คือ พระมหากษัตริย์และพระเถระ
๓. สถานที่ ที่เกี่ยวข้องกับการรจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ถ้าหากกล่าวถึงสถานที่ ที่เกี่ยวกับการรจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีแล้วก็มีสถานที่ คือ วัดสวนขวัญ ซึ่งเป็นสถานที่สงบเงียบ และเหมาะสำหรับรจนาคัมภีร์ ท่านเริ่มต้นรจนาคัมภีร์ที่นั่นเอง
ประวัติผู้แต่ง
พระศิริมังคลาจารย์ จอมปราชญ์แห่งล้านนา เดิมชื่อ ศรีปิงเมือง ต่อมาเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรมีฉายาว่า สิริมังคละ บิดามีอาชีพ ค้าช้าง ท่านเกิดในสมัยราชวงศ์มังรายปกครองอาณาจักรล้านนาตรงกับราชกาลพระเจ้าติโลกราช ระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๐ - ๑๐๒๐ มรณภาพในรัชกาลพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๑๗) ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนขวัญ ปัจจุบัน ชื่อ วัดตำหนัก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ของนครเชียงใหม่ ประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นปราชญ์ทางด้านภาษาบาลี ผู้แตกฉานในอักขรวิธี วจีวิพาก วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์อย่างยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรบาลีชั้นประโยค ปธ.๔ ปธ.๕ และ ปธ.๗ ในปัจจุบัน
ผลงานของท่าน พระสิริมังคลาจารย์รจนาไว้ทั้งหมด ๔ เรื่อง แต่ละเรื่องมีแนวการรจนาไปในทางอธิบาย คือ ประเภทแรกอธิบาย คัมภีร์ที่มีมาแต่เดิม มีเวสสันตรทีปนี สังขยายปกาสฏีกา และมังคลัตทีปนี โดยเฉพาะมังคลัตทีปนีเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนพระปริยัติธรรม ต้องศึกษา ส่วนประเภทที่สอง เป็นการอธิบายเรื่องราวที่มิได้เป็นคัมภีร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ได้แก่ เรื่อง จักรวาฬทีปนี เป็นเรื่องที่ค้นคว้ามีหลักฐานอ้างอิง คือ พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เรื่องนี้ว่าด้วยจักรวาล คือ โลกและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกจักรวาล คือ สัณฐานของโลก
พระสิริมังคลาจารย์ ได้รับเกียรติคุณเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์แห่งล้านนาถึงสองพระองค์ คือ พระอาจารย์ ของพระเมืองแก้ว และพระเมืองแก้วทรงแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดพร้อมถวายสมณศักดิ์ให้เป็นพระสิริมังคลาจารย์ตามฉายาเดิม เคยเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาในลังกา ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกจนถึงมรณภาพ
พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระสงฆ์ที่ทรงภูมิปัญญา ท่านเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรข้างเคียงรู้จักและยอมรับ ความเจริญรุ่งเรืองของยุคทองพุทธศาสนา และยุคทองของวรรณกรรมพุทธศาสนาของอาณาจักรล้านนา
เนื้อเรื่องย่อของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นเรื่องราวที่ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับมงคล ๓๘ ประการโดยแต่ละมงคลนั้นนอกจากจะอธิบายคาถาแล้ว ยังมีชาดกประกอบเนื้อเรื่องอีกด้วย เนื้อหาของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นเรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อประมาณ ๒๖ ศตวรรษมาแล้ว ประชาชนชาวชมพูทวีปโต้เถียงและอภิปรายถึงเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องนางสีดา เป็นต้น เรื่องหนึ่งๆกว่าจะจบใช้เวลาเถียงกันถึง ๖ เดือน ต่อมาวันหนึ่งได้มีความตื่นตัวที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของชีวิต หลายคนตั้งคำถามขึ้นว่า อะไรคือมงคลของชีวิต รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบเป็นมงคล และใครเป็นผู้รู้มงคล นายทิฏฐมังคลิกะกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้มงคล รูปที่เราเห็นเป็นมงคล นายสุตมังคลิกะกล่าวค้านว่า รูปที่เราเห็นไม่เป็นมงคลเลย เสียงที่เราได้ยินต่างหากที่เป็นมงคล นายมุตมงคลกล่าวค้านอีกว่า เสียงที่เราได้ฟังนั้นไม่เป็นมงคลเลย สิ่งที่เป็นมงคลนั้นคืออารมณ์ที่เราทราบต่างหาก เมื่อนักโต้วาที ๓ คน กล่าวอย่างนั้น ผู้ฟังทั้งหลายก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป คือบางคนก็มีความเห็นด้วยกับแนวคิดของนักโต้วาทีทั้ง ๓ คน บางพวกก็ไม่เห็นด้วย ต่างก็โต้เถียงเรื่องมงคลกัน ปัญหาเรื่องมงคลตกค้างยึดเยื้อมาถึง ๑๒ ปี ก็ยังหาข้อหยุดติไม่ได้ เมื่อเวลา ๑๒ ปี ผ่านไปได้มีเสียงพูดกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักตรัสมงคล คราวนี้ได้มีเทพบุตรนำปัญหาเรื่องมงคลเข้าเผ้าทูลถามพระพุทธเจ้า ในขณะที่ประทับอยู่ที่พระเชตวัน มหาวิหารใกล้เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “สิ่งที่เป็นมงคลนั้นมี ๓๘ ประการ” ดังนี้
๑ อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาล๑
๒ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบบัณฑิต๑
๓ ปูชา จ ปูชนียานํ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา๑นี้เป็นอุดมมงคล
๔ ปฏิรูปเทสวาโส จ การอยู่ในประเทศอันสมควร๑
๕ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน๑
๖ อตฺตสมฺมาปณิธิ จ การตั้งตนไว้ชอบ๑นี้เป็นอุดมมงคล
๗ พาหุสจฺจญฺจ การสดับตรับฟังมากพาหุสัจจะ๑
๘. สิปฺปญฺจ การศึกษาศิลปะศิลป๑
๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต วินัยที่ศึกษาดีแล้ว๑
๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต๑
๑๑. มาตาอุปฏฺฐานํ การบำรุงมารดา
๑๒. ปิตุอุปฏฺฐานํ การบำรุงบิดา
๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห การสงเคราะห์บุตรและภรรยา
๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากูลคั่งค้าง
๑๕. ทานญฺจ ทานการให้
๑๖. ธมฺมจริยา การประพฤติธรรม
๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห การสงเคราะห์ญาติ
๑๘. อนวขฺขานิ กมฺมานิ การกระทำการงานที่ไม่มีโทษ
๑๙. อารตี วีรตี ปาปา การงดการเว้นจากบาป
๒๐. มฺชชปานา จ สญฺญโม การสำรวมจากน้ำเมา
๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒. คารโว จ ความเคารพ
๒๓. นิวาโต จ การอ่อนน้อมถ่อมตน
๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ
๒๕. กตญฺญุตา ความกตัญญูรู้คุณ
๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมตามกาล
๒๗. ขนฺตี จ ความอดทน
๒๘. โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย
๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ การเห็นสมณะ
๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา การสนทนาธรรมตามกาล
๓๑. ตโป จ ความเพียรเผากิเลส
๓๒. พฺรหฺมจริยญฺ จ การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓. อริยสจฺจานทสฺสนํ การเห็นอริยสัจ
๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ การทำนิพพานให้แจ้ง
๓๕.ผุฏฺฐสฺสโลกธมฺเมหิจิตฺตํยสฺสนกมฺปติ จิตของผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
๓๖. อโสกํ ความไม่เศร้าโศก๑
๓๗. วิรชํ จิตที่ปราศจากธุลี๑
๓๘. เขมํ เป็นจิตเกษม ๑

คุณค่าของวรรณกรรม
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงยิ่งของพระสิริมังคลาจารย์ ท่านได้อธิบายถึงความหมายชองมงคลที่มาจากพระสูตรโดยละเอียด ด้วยภาษาบาลีอันไพเราะสละสลวย และนำเรื่องคัมภีร์และชาดกอื่นๆ มาอธิบายประกอบมังคลัตถทีปนี คัมภีร์นี้ได้มีการแปลภาษาไทยความยาวถึง ๘๙๓ หน้า และมีการพิมพ์เผยแผ่ครั้งแล้วครั้งเล่า คัมภีร์นี้ก่อให้เกิดคุณค่าหลายๆประการด้วยกัน พอสรุปคุณค่าของมังคลัตถทีปนี ได้ดังนี้

คุณค่าทางศาสนา
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นคัมภีร์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมา ถึงปัจจุบัน การอธิบายความในมงคลสูตร โดยมีที่มาปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่ ๒ แห่ง ด้วยกันคือ ในขุททกปาฐะ ขุททกนิกายและทุติยวรรค สุตตนิกาย ในพระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย มีอรรถกถา ชื่อปรมัตถโชติกา ซึ่งพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาไว้ อันเป็นพระสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติที่เป็นมงคล ๓๘ ประการ คัมภีร์มังคลัตถทีปนีรจนาด้วยภาษาบาลีล้วน ปัจจุบันคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีพิมพ์ด้วยอักษรไทย แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือปฐโม ภาโค (ภาคที่ ๑) และทุติโย ภาโค (ภาคที่ ๒) โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงชำระและสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ)วัดเทพศิรินทราวาสชำระอีกำ

คุณค่าทางวรรณคดี
คัมภีร์มังคลัตถทีปนีถือว่าเป็นวรรณกรรมหรือวรรณคดีชั้นยอดที่พระสิริมังคลาจารย์ ได้รจนาขึ้น ลักษณะการแต่งคัมภีร์ เป็นแบบร้อยแก้วผสมด้วยคาถา สำหรับร้อยแก้วนั้นเป็นการอธิบายความหมายของศัพท์ในคาถาหนึ่งๆ ให้เข้าใจง่าย เช่น อเสวนาติ อภิชนา แปลความว่า คำว่า อเสวนา ได้แก่การไม่คบ เป็นต้น แล้วอธิบายความหมายของมงคลแต่ละข้ออย่างละเอียด พร้อมยกอุทาหรณ์มีนิทานประกอบ มีนิทานที่ผู้รจนานำมาประกอบได้เหมาะสมกลมกลืนกับหัวข้อธรรมนั้นๆ คัมภีร์เล่มนี้นับว่าเป็นวิทยานิพนธ์ชั้นบรมครูถือว่ามีคุณค่าทางวรรณกรรมสูง ซึ่งนักศึกษาที่เรียนรู้ประวัติวรรณคดี โดยเฉพาะวรรณคดีบาลีจะต้องและเข้าใจ

คุณค่าต่อทางวิถีชีวิต
เรื่องราวหรือว่าเนื้อหาสาระของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นเรื่องของแนวทางการดำเนินชีวิตของผู้คนที่ต้องการความเป็นมงคล ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งประกอบด้วยมงคล ๓๘ ประการ เป็นขอบเขตของการดำเนินชีวิตมิให้ผิดพลาด ถ้าหากบุคคลในชุมชน สังคม และประเทศชาติ ต่างก็ปฏิบัติตามหลักมงคลสูตรนี้ สังคม ชุมชนก็เป็นสุข ประเทศก็จะเจริญเต็มไปด้วยผู้คนที่มี

คุณธรรมและจริยธรรม การคบคนพาล มีโทษดังนี้
๑. ทำให้ขาดจากประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น ขาดจากประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า
๒. ทำให้ประพฤติชั่วทางกาย วาจา และ ใจ
๓. ทำให้เสียชื่อเสียง
๔. ไม่มีใครนับถือ
๕. ทำให้คนเกลียดชัง
๖. ทำให้หมดความงามภายใน หมดความเป็นสิริมงคล
๗. ทำลายวงศ์ตระกูลตนเอง
๘. ไปอบายภูมิ

คุณค่าทางภาษา
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ถือว่าเป็นคัมภีร์ที่มีคุณค่าทางภาษาอย่างสูง โดยเฉพาะภาษาบาลี พระสิริมังคลาจารย์ ได้รจนาคัมภีร์นี้ เป็นแบบร้อยแก้วผสมคาถา การแต่งประโยคก็ใช้ประโยคง่ายๆไม่ยากจนเกินไป ทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาแล้วเข้าใจในประโยคนั้น
หลักสูตรในการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย ให้พระภิกษุสามเณรได้ใช้เรียนขั้นเปรียญธรรม๕ และ ๕ ประโยค อีกด้วย ภาษาที่ท่านใช้และลักษณะการแต่งคัมภีร์ เป็นการอธิบายธรรมะให้เข้าใจง่าย คนอ่านได้เพลินเพลิดสนุกสนานไปกับเนื้อเรื่องและธรรมแต่ละข้อ นิทานชาดกที่ยกมาก็ สอดคล้องกับธรรม คัมภีร์มังคลัตถทีปนี มีคุณค่าทางภาษา นานัปการ จึงถือว่าเป็นแบบอย่างสำหรับการศึกษา การเรียบเรียงข้อมูลและการแต่งหนังสือโดยเฉพาะภาษาบาลีได้เป็นออย่างดี
อิทธิพลของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี

ด้านเศรษฐกิจ
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ตามที่ทราบแล้ว่าเป็นคัมภีร์ที่อธิบายความของมงคลสูตร ๓๘ ประการ ถ้าหากจะกล่าวถึงคัมภีร์นี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว คัมภีร์นี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เดียว แต่เกี่ยวข้องทางอ้อม เพราะเศรษฐกิจนั้นคือการกินดี อยู่ดีของคนในสังคม และประเทศชาติ ประเทศชาติจะเจริญก็เพราะมีเศรษฐกิจเป็นเครื่องชี้วัด ความเจริญของประเทศ จึงจะทำให้คนในสังคมนั้นมีการกินดี อยู่ดี ประกอยสัมมาชีพ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำงานสุจริต เศรษฐกิจก็ดี ประเทศชาติก็เจริญ

ด้านการเมืองการปกครอง
อิทธิพลของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่มีต่อการเมืองการปกครอง ก็คงเป็นเช่นเดียวกันที่มีต่อเศรษฐกิจเพราะไม่ผลทางตรงเลยเดียว แต่มีในทางอ้อม เพราะไม่ใช่หลักในการบริหารประเทศ แต่เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของคนในชุมชน สังคม ประเทศชาติ ดังเช่นมงคลข้อที่ ๖ ตั้งตนไว้ที่ชอบ คำว่าตนนี้ หมายถึงร่างกายและจิตใจ คำว่าตั้งตนไว้ที่ชอบนั้น หมายถึงบุคคลผู้นั้น มีความดำริชอบ มีความคิดที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฎฐิ หรือถูกต้องตามทำนองครองธรรม บ้านเมืองก็มีความเจริญ การบริหารประเทศก็จะไปด้วยดี เพราะมีผู้นำตั้งตนไว้ชอบ

ด้านการศึกษา
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษามีอิทธิพลทีเดียว ดังจะมองเห็นได้อยู่ ๒ ประการด้วยกัน คือ ประการแรก มีผลต่อการจัดการศึกษาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่พระสิริมังคลาจารย์ ได้รจนาขึ้น ถือว่าเป็นคัมภีร์ชั้นยอดในทางพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์ไทยได้แต่งตั้งขึ้นมา มีคุณค่าต่อพระศาสนา โดยคณะสงฆ์ของไทยได้นำมาเป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้ศึกษาและจัดการพิมพ์เป็นหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์แผนกบาลีใช้เรียนชั้นเปรียบธรรม ๔ ประโยค และหลักสูตรเปรียบธรรม ๕ ประโยค คัมภีร์นี้จึงมีคุณค่าทางศาสนาให้คณะสงฆ์ได้เรียนรู้และนำไปเผยแผ่แก่ศรัทธาประชาชนอีกมากมาย

ด้านสังคม
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี มีอิทธิพลต่อสังคมโดยตรง เพราะเนื้อหาสาระเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมงคล บุคคลที่อยู่บนโลกนี้ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความเกี่ยวข้องกันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยบุคคลเริ่มมาจากครอบครัว ชุมชน และสังคม ในการอยู่ร่วมกัน ก็มีกฎระเบียบในการควบคุมความประพฤติให้แต่ละบุคคลอยู่ในสังคมในระเบียบเพื่อให้สังคมมีความสุข แต่บางครั้งผู้คนก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบต่างๆอิทธิพลของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี มีต่อสังคมไทย พอสรุปได้ดังนี้
๑. ด้านคติธรรมคำสอนในสังคม เช่นมงคลข้อที่ ๑๑ การเลี้ยงดูบิดามารดา
๒. ด้านค่านิยมทางสังคม เช่นมงคลข้อที่ ๑๓ บำเพ็ญทาน
๓. ด้านวัฒนธรรมประเพณี เช่น มงคลข้อที่ ๑ ไม่คบคนพาล เป็นต้น

จุดเด่นของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี
คัมภีร์มังคลัตถทีปนีมีจุดเด่นในเรื่องลักษณะชองการแต่ง โดยมีการแต่งที่เป็นทั้งร้อยแก้วผสมด้วยคาถา และอธิบายความหมายของข้อความในมงคลสูตรแต่ละข้ออย่างละเอียด ชัดเจน มีการยกนิทานชาดกมาประกอบทำให้อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที นอกจากนั้นท่านยังได้แสดงหลักฐาน อ้างอิง หรือเชิงอรรถ แต่ละข้อความที่ท่านอ้างอิง ท่านจะบอกที่มาทุกเรื่อง ว่ามาจากคัมภีร์เล่มไหน จากพระสูตรอะไร ว่าอย่างไร ทำให้คนอ่านได้รับรู้ และเข้าใจความเป็นมาข้อความนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
การออิบายมงคลสูตรแต่ละข้อของพระสิริมังคลาจารย์ได้พบว่าพระสิริมังคลาจารย์ใช้หลักการที่พระโบราณาจารย์ได้ใช้สืบๆต่อกันมา คือ หลัก ๕ ประการ ได้แก่
๑. สุตตะ หัวข้อหลักธรรมที่มาในพระไตรปิฎก นำมาตั้งเป็นบทอุทเทสเพื่ออธิบาย
๒. สุตตานุโลม ข้อมูลที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเช่น คล้อยตามหัวข้อที่ตั้งไว้ ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนสุตตะ
๓. อาจริยวาท เป็นคำอธิบายของอาจารย์ หมายถึงคำอธิบายของอรรถกถาที่อธิบายหัวข้อธรรมที่นำมาตั้งเป็นสุตตะ
๔. อัตโนมัติ เป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละท่านแต่ละคน หมายเอาข้อมูลที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษาค้านคว้าเรียบเรียงไว้
รูปแบบของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี

โครงสร้างและการจัดลำดับของเนื้อหา
มังคลัตถทีปนี ที่ท่านพระสิริมังคลาจารย์ได้รจนาขึ้นนั้น เป็นการอธิบายมงคลแต่ละข้ออย่างละเอียด โดยยกหัวข้อธรรมที่มีในพระไตรปิฎก มาตั้งเพื่ออธิบาย นำข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีทั้งนิทาน และนิทานชาดกอธิบายประกอบ ใช้คำง่ายๆที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ หลักฐานการอ้างอิงท่านบอกที่มา ว่ามาจากคัมภีร์ไหน พระสูตรอะไร พร้อมทั้งยกข้อความนั้นมาด้วย เป็นลักษณะของการรจนาที่ให้ความสำคัญต่อเนื้อหาสาระมีการเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องราวของชาดกต่างๆ ทั้งคาถา และชาดกมีความสอดคล้องกัน เป็นเหตุเป็นผล

วิธีเขียน และภาษาที่ใช้เขียน
พระสิริมังคลาจารย์มีกลวิธีในการเขียนหรือกลวิธีในการใช้รูปแบบที่หลากหลาย มีทั้งการอ้างอิงที่มา มีการเลือกใช้รูปแบบและลักษณะเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกัน เช่น มงคลข้อที่ ๓ การบูชาผู้ที่ควรบูชา (ปูชา จ ปูชนียนํ) คาถากล่าวถึงการบูชาผู้ที่ควรบูชา
นอกจากนั้น ท่านยังใช้กลวิธีอื่นอีกด้วย ดังเช่น มีการใช้กลวิธีการชี้แนะแนวคิดห้ามไม่ให้กระทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น มงคลข้อที่ ๑๙ การางดเว้นจากบาป (อารตี วิรตี ปาปา) การงดเว้นจากบาป มีการยกนิทานประกอบด้วย เป็นต้น
การวิเคราะห์เปรียบเทียบมงคลในมังคลัตถทีปนีกับมงคลในพระไตรปิฎก
การวิเคราะห์เปรียบเทียบมงคลในมังคลัตถทีปนีกับมงคลในพระไตรปิฎก จะมาเปรียบเทียบเฉพาะมงคลข้อที่ ๑ คือ อเสวนา จ พาลานํ (การไม่คบคนพาล) เท่านั้น พอเป็นแนวทางในการศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติมให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวางอีกต่อไป
มงคลที่ ๑ ที่มาในพระไตรปิฎกนั้น กล่าวเฉพาะในส่วนของเนื้อของคาถาเท่านั้น คือ
อเสวนา จ พาลนํ ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียนํ เอตมฺมฺงฺคลมุตตฺมํ
แปลตามพระไตรปิฎกภาไทยใจความว่า
การไม่คบพาล การคบแต่บัณฑิต
การบูชาคนที่ควรบูชา นี่เป็นมงคลอันสูงสุด
เนื้อหาสาระทั้งหมดนี้มีที่มาในพะไตรปิฎก ซึ่งแตกต่างจากที่มาในมังคลัตถทีปนี ที่ท่านพระสิริมังคลาจารย์ได้รจนาไว้ ส่วนที่แตกต่างนั้น พระสิริมังคลาจารย์ ไม่ได้แปลความหมายหรือแก้ไขข้อความที่มาในพะไตรปิฎก แต่ท่านได้วิเคราะห์เนื้อหาสาระ และเพิ่มเติมในส่วนของนิทานชาดกเข้ามาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาของคาถาบทนี้เพิ่มมากขึ้น
การประยุกต์ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี
การประยุกต์ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ถือว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน การนำเนื้อหาสาระของคัมภีร์มังคลัตถทีปนี มาประยุกต์ใช้จะทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมากในทุกๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง ตลอดถึงการศึกษาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพราะรากฐานของการพัฒนาที่ถูกที่ควรสังคมการเมืองการปกครอง มาจากตัวตนของคน ฉะนั้นหากคนได้รับการพัฒนาสังคมชุมชนก็มีความเจริญ คือหลักการปฏิบัติในมงคล ถ้าหากทุกคนนำมงคลทั้ง ๓๘ ประการ มาประพฤติปฏิบัติก็จะเกิดผลดีต่อตนเองและผู้อื่น เช่นการคบบัณฑิตที่จัดว่าเป็นมงคล เป็นความดี และความเจริญ
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว หากคนมีการพัฒนาตามหลักที่ถูกที่ควร ก็จะทำให้เป็นคนที่มีสติ สัมปชัญญะ อยู่ในความไม่ประมาท อกุศลคือความชั่ว ที่ยังไม่เกิดก็จะยังไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะเสื่อมไป กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะเจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น เป็นคัมภีร์ที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ ซึ่งใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
สรุป
วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาสมัยล้านนามีอยู่หลายเรื่อง และมีพระเถระหลายรูปที่มีความรู้ความสามารถและได้รจนาคัมภีร์เอกสารทางพระพุทธศาสนามากมาย วรรณกรรม ที่สำคัญและรู้จักแพร่หลาย คือคัมภีร์มังคลัตถทีปนี รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๐๖๗ นับเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงในการอธิบายความในมงคลสูตรมีเรื่องราวที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับมงคล ๓๘ ประการ ในแต่ละมงคลจะอธิบายคาถาแล้ว ยังมีชาดกประกอบด้วยเนื้อเรื่องเนื้อหาของ มังคลัตถทีปนี เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อประมาณ ๒๖ ศตวรรษ มาแล้ว
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นวรรณกรรมที่อธิบายความหมายมากมายของมงคลที่มาจากพระสูตรโดยละเอียดด้วยภาษาที่อันไพเราะสละสลวย ก่อให้เกิดคุณค่าทางศาสนาทางวรรณคดีทางวิถีชีวิตและคุณค่าต่อภาษา มีการยกหัวข้อธรรมที่มีในพระไตรปิฎกมาตั้งเพื่ออธิบาย มีการนำเอานิทาน และนิทานชาดกมาอธิบายประกอบใช้คำง่ายๆ ที่ทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ตลอดถึงการศึกษา

บรรณนุกรม
เกษม ขนาบแก้ว แง่คิดจากวรรณคดีและวรรณกรรม, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์ , ๒๕๕๐
บุญมา จิตจรัส. มงคล ๓๘ ประการ. กรุงเทพ ฯ : การศาสนา, ๒๕๓๓
บุณย์ นิลเกษ, ดร.คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์สำหรับประชาชน เล่นที่ ๒ .เขียงใหม่: บุณยนิธิ, ๒๕๔๓
พรรณเพ็ญ เครือไทย. วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๐

http://www.lampang108.com
http://learners.in.th
http://www.lampang108.com
http://www.geocities.com

2 ความคิดเห็น: