๑۩۞۩๑ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล๊อกของผมครับ ๑۩۞۩๑

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระธาตุบ้านเมืองจันทร์ (เทียดเทราะผืด)

 “พระธาตุเมืองจันทร์” 



ตั้งอยู่บริเวณบ้านเมืองจันทร์ ตำบลเมืองจันทร์ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ โบราณสถานตั้งอยู่ภายในวัดบ้านเมืองจันทร์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินรูปวงกลมล้อมรอบ 1 ชั้น ธาตุบ้านเมืองจันทร์ก่อด้วยอิฐสอปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมขนาด 3.50 X 3.50 เมตร สภาพส่วนใหญ่ยังคงสมบูรณ์อยู่ส่วนฐานพังทลายไปเล็กน้อย ส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดยังคงสมบูรณ์ โดยส่วนยอดมีการจำลองส่วนเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงเรียงลดหลั่นกันขึ้นไปสาม ชั้น บนสุดทำเป็นยอดเรียวกลมตัวเรือนธาตุก่ออิฐทึบ ยังคงพบลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัวที่ประดับอยู่บนหัวเสาติดผนังที่รองรับกรอบ หน้าบัน ใกล้ ๆ กับองค์ธาตุมีสิม หรืออุโบสถเก่าอยู่หลังหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ส่วนหลังคาชำรุดหักพังหมดแล้ว สิมก่อด้วยอิฐฉาบปูนมีบันไดทางขึ้นทิศตะวันตก ภายในมีใบเสมาสลักเป็นลวดลายคล้าย ดอกบัวตูมปักเรียงตามแนวยาวทั้ง 8 ทิศ

ความสำคัญและความเป็นมาของการจัดงานไหว้พระธาตุเมืองจันทร์

ประเพณี และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เกิดจากการสั่งสมสืบทอดกันมาจากความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับชุมชนสืบไป ดังจะเห็นได้จากแต่ละท้องถิ่นจะมีมรดกทางภูมิปัญญาที่ได้ถ่ายทอดกันมา อาทิเช่น โบราณสถาน กิจกรรม ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ตำบลเมืองจันทร์เป็นอีกท้องถิ่นหนึ่ง ที่ได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีจากบรรพบุรุษ ที่สามารถสังเกตได้จากศิลปโบราณวัตถุคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองจันทร์ คือ “พระธาตุเมืองจันทร์” ซึ่งประชนได้ให้ความเคารพสักการะและได้ร่วมกันจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุใน ช่วงสงกรานต์ของทุกปี องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจันทร์เป็นองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่อนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีอันดีงามของชุมชนให้คงอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติความเป็นมาของ “พระธาตุเมืองจันทร์” ตลอดจนประวัติศาสตร์ของชาวส่วย

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจันทร์จึงได้ร่วมกับชุมชนวัดบ้านเมืองจันทร์ กำหนดจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุเมืองจันทร์” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่เดิมทางวัดบ้านเมืองจันทร์ โดยชาวบ้านได้ร่วมกันจัดกิจกรรมไหว้พระธาตุกับชุมชนบ้านตาโกน ซึ่งถือปฏิบัติกันตลอดมาจนกระทั่งได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้น ชาวเมืองจันทร์จึงได้ร่วมกันจัดให้เป็นประเพณีไหว้พระธาตุเมืองจันทร์ โดยในแรกเริ่มนั้นจะมีแต่พิธีบวงสรวงพระธาตุเท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันได้มีกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมเข้าร่วมด้วย เช่น การแต่งกายในชุดชาวส่วย การพูดภาษาส่วย การร้องเพลงกล่อมลูก การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ เป็นต้น


กรอบแนวคิดในการดำเนิน
การจัดทำรายงานครั้งนี้ ได้กำหนดกรอบภารกิจในการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย
1. พิธีบวงสรวงพระธาตุ และคาราวะพระเจ้าใหญ่
2. วิถีชีวิตชนเผ่าส่วย
3. การแสดงพื้นบ้าน
4. การสรงน้ำพระ
5. กิจกรรมการทำบุญตักบาตร
6. การออกร้าน / นิทรรศการของกลุ่มอาชีพ และส่วนราชการ
7. พิธีมอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและการมอบของขวัญให้แก่ผู้สูงอายุ
8. กิจกรรมรดน้ำดำหัวและการเลี้ยงอาหารผู้สูงอายุ
9. การฟังธรรมเทศนา

วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไป
2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำบุญทำทาน
3. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวเมืองจันทร์ได้ระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ประชาชนมีส่วนช่วยอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไป
2. ประชาชนมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีโอกาสทำบุญร่วมกัน
3. ประชาชนชาวเมืองจันทร์ได้ระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ


คำขวัญ 

เมืองพระธาตุศักดิ์สิทธิ์   แหล่งผลิตพริกพันธุ์ดี   ประเพณีหลากหลาย   สืบเชื้อสายลาวส่วย   แดนข้าวสวยหอมมะลิ


ที่มา http://cid-7e7c0153c61a725d.spaces.live.com/blog/cns!7E7C0153C61A725D!155.entry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น