๑۩۞۩๑ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล๊อกของผมครับ ๑۩۞۩๑

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนากับองค์พระมหากษัตริย์ไทย..จากอดีตถึงปัจจุบัน

พระพุทธศาสนากับองค์พระมหากษัตริย์ไทย..จากอดีตถึงปัจจุบัน

พระพุทธศาสนากับองค์พระมหากษัตริย์ไทย
ศาสนาพุทธ " ศาสนาประจำชาติ "
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย …….เหตุฉะนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาใน ประเทศไทยอย่าให้มีอันตรายมาถึงได้จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่เป็นเชื้อชาตินักรบต้องรักษาพระศาสนานี้ให้ คงอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ต้องรักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราทั้งหลาย….เราจะต้องรักษาความ เป็นไทยของเราให้ยั่งยืน เราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาการอย่างที่เป็นมาแล้วหลายชั่วโคตร ของเราทั้งหลาย
องค์ประกอบของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบที่สำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. ศาสนวัตถุ เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร สถูปเจดีย์ พระพุทธรูป สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา
๒. ศาสนพิธีหมายถึง พิธีกรรม ระเบียบประเพณีทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธีทำบุญ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีบวช พิธีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
๓. ศาสนบุคคล หมายถึง บุคคลในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร พุทธศาสนิกชนทุกคน
๔. ศาสนธรรม หมายถึง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อ ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิและปัญญา
ศาสนธรรม เป็นแก่นแท้ของศาสนาที่จะต้องพยายามให้เข้าถึงส่วนศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนบุคคล เป็นเปลือกหรือกะพี้ ซึ่งก็มีความสำคัญเพราะช่วยห่อหุ้มแก่นไว้ เหมือนเปลือกกะพี้ต้นไม้ที่หุ้มห่อแก่นของต้นไม้ไว้ ต้นไม้ที่มีแต่แก่น หากไม่มีเปลือกและกะพี้ห่อหุ้มไว้ไม่อาจจะอยู่ได้นานฉันใดพระสัทธรรมที่ขาดศาสนวัตถุศาสนพิธีและศาสนบุคคลก็ไม่อาจอยู่ได้นานฉันนั้น
การส่งเสริมพระพุทธศาสนาจึงต้องส่งเสริมองค์ประกอบทั้ง ๔ ของพระพุทธศาสนา คือ รักษาส่งเสริมศาสนวัตถุให้อยู่ในสภาพที่ดี เช่น รักษาวัดวาอารามให้สะอาด น่ารื่นรมย์ ให้เหมาะสมเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รักษาและปฏิบัติตามศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง สนับสนุนการศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์ ส่งเสริมพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา รักษาและปฏิบัติตามศาสนธรรมที่เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สัทธรรมปฏิรูปหรือสัทธรรมปลอม ป้องกันสัทธรรมปฏิรูปหรือสัทธรรมปลอมเข้ามาในพระพุทธศาสนา
ในภาวะวิกฤตของสังคมไทยเช่นในปัจจุบัน การก่อสร้างศาสนวัตถุใหญ่โตที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและรบกวนประชาชน ควรจะระงับไว้ก่อน สิ่งที่ควรจะสร้างในปัจจุบัน คือ "คน" คือ พยายามนำธรรมะให้เข้าถึงคน และพยายามนำคนให้เข้าถึงธรรมะ ให้คนได้มีธรรมะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อย่าอยู่อย่างคนที่ไร้ที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว เมื่อมีมรสุมพัดมาก็อาจจะถูกมรสุมพัดพาไปสู่ภัยพิบัติได้โดยง่าย
พระพุทธศาสนากับชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับชาติและศาสนา มีข้อความดังนี้
" ชาติกับศาสนาเป็นสิ่งต่อเนื่องกัน ถ้าชาติพินาศแล้วศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าศาสนาเสื่อมทรามจนสูญสิ้นไปแล้ว ประชาชนก็จะมีคุณธรรมย่อหย่อนลงไป จนท้ายไม่มีอะไรเลย ชาติใดไร้คุณธรรม ชาตินั้นก็ต้องถึงแก่ความพินาศล่มจม คงต้องเป็นข้าชาติอื่นที่มีคุณธรรมบริบูรณ์อยู่ "
ในเทศนาเสือป่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งถึงพระพุทธศาสนา มีข้อความดังนี้
" พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งกว่าคนที่แปลงชาติ เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา "

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสแด่พระสันตปาปา จอห์นพอลที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักร คาทอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
" คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ "
" ชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกะชน มีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตากรุณา เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความ เป็นมิตร แผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นการนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้ ดังนี้ คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นในประเทศนี้ "
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ได้ทรงประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม
ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมของพระราชาและนักปกครอง มี ๑๐ ประการ คือ
      ๑. ทาน การให้ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน และอภัยทาน
      ๒. ศีล ความประพฤติดีงาม งดเว้นจากการทำชั่ว เสียหาย ไม่ทำอะไรที่เป็นการไม่เหมาะไม่ควร
      ๓. ปริจจาคะ การเสียสละ ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
      ๔. อาชชวะ ความตรง คือประพฤติซื่อตรง ไม่คิดทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ
      ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน มีกายวาจาสุภาพ อ่อนโยน ต่อคนทั้งปวง
      ๖. ตปะ ความเพียร เพียรปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดละเบื่อหน่าย มีความกล้าหาญไม่อ่อนแอย่อท้อ
      ๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ ไม่ลุอำนาจของความโกรธ และกระทำไปด้วยอำนาจของความโกรธ
      ๘. อวิหิงสา การไม่เบียดเบียน ไม่ทำอะไรให้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีจิตประกอบด้วยกรุณาคิดช่วยเหลือผู้อื่น
      ๙. ขันติ ความอดทน มีความอดทนต่อความลำบาก ตรากตรำทั้งปวง อดทนต่อถ้อยคำที่จาบจ้วงล่วงเกิน
      ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ผิด จะทำอะไรก็ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเมื่อรู้ว่าอะไรผิดก็ไม่ทำ
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ยังทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา โดยทรงอุปถัมภ์ในทุก ๆ ด้าน คือ ด้านศาสนธรรมก็ได้ทรงอุปถัมภ์ การชำระและจารึกพระไตรปิฎก การศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนการปฏิบัติธรรม ด้านศาสนบุคคลก็ได้ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์และการสถาปนาพระราชาคณะ ด้านศาสนวัตถุก็ได้ทรงอุปถัมภ์การสร้างและการทะนุบำรุงถาวรวัตถุทางพระพุทธ ศาสนา อีกทั้งทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
อนึ่ง พระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล และรัฐพิธี ล้วนแต่มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักทั้งสิ้น แม้จะมีพิธีพราหมณ์ปนอยู่ พิธีพราหมณ์เหล่านั้นก็เป็นเพียงส่วนประกอบปลีกย่อยเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าประเทศไทย แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่โดยพฤตินัยและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเครื่องหมายธงชาติไทย ก็เป็นอันนับได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยมาแต่อดีต
อนึ่ง เครื่องชี้ชัดอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สิ้นความสงสัยว่า สถาบันศาสนาได้แก่สถาบันพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ในโอกาสเสด็จออกทรงผนวชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ว่า "โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจัดเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมด้วยและนับตั้งแต่ ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสัตตติวงศ์
ต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่งจึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้"
พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาททั้งหลายที่ได้อันเชิญมานี้ เป็นพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงความสำคัญยิ่งหลายพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน จึงเป็นหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่บรรพบุรุษของเราได้ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นสถาบันหลักของชาติสืบเนื่องติดต่อมา
การที่บรรพบุรุษของเรา ได้กำหนดให้สถาบันชาติ สถาบันพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักที่สำคัญนั้น ทำให้เรามองเห็นถึงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องของบรรพบุรุษของเราเป็นอย่าง ยิ่งว่า สถาบันดังกล่าวทั้ง ๓ สถาบันนี้จะขาดสถาบันใดสถาบันหนึ่งมิได้ ต่างอาศัยเกี่ยวพัน
ซึ่งกัน คือ
๑. สถาบันชาติ  เครื่องหมายของความเป็นชาติย่อมมีส่วนประกอบหลายอย่าง แต่ส่วนประกอบสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นชาติ ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ และตามที่กล่าวมาแล้วว่าโดยที่ประเทศไทยของราได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ช้านานแต่โบราณ ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถือทางพระพุทธ ศาสนาเกือบทั้งสิ้น ฉะนั้น หากพระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนย่อมมีผลให้สถาบันชาติสั่นคลอนไป ด้วย
๒. สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะโดยกฎมณเฑียรบาลและโดยรัฐธรรมนูญการ ที่ชนในชาติยังมีความเลื่อมใส ศรัทธายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีลัทธิความเชื่อถือที่สอดคล้องกับองค์พระประมุข มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุดร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานความมั่นคงที่สำคัญ
๓. สถาบันพระพุทธศาสนา โดยที่เนื้อแท้ของ สถาบันพระพุทธศาสนานั้นมิอาจตั้งอยู่ได้โดยปราศจากความอุปถัมภ์จากองค์เอก อัครศาสนูปถัมภกและจากรัฐ เพราะพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันนี้ เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้ขัดเกลากิเลส เป็นผู้เผยแพร่ประกาศพระศาสนาในฐานะศาสนทายาท มิได้ประกอบอาชีพการงานเยี่ยงคฤหัสถ์ การดำรงสมณเพศต้องอาศัยชาวบ้านและฝ่ายบ้านเมือง หากขาดการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากรัฐบาลและจากองค์พระประมุขเมื่อใดก็ย่อมจะดำรง ตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกันด้วยโครงสร้างของชาติไทยที่มีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาแต่อดีตอันยาวนาน จนคำสอนในพระพุทธศาสนากลายเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี วัฒนธรรม ที่คนไทยทั้งชาติยึดถือร่วมกัน อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะตามกฎมณเฑียรบาล และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้โครงสร้างความเป็นชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยสถาบันหลักสามสถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน มิอาจแยกจากกันได้ หากขาดสถาบันหนึ่งสถาบันใด อีกสองสถาบันก็มิอาจดำรงอยู่ได้ ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ จึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันทั้งสาม ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์…"

ขอบคุณที่มา www.geocities.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น